สำนักข่าวไทยไทม์นิวส์ • ThaitimeNews
loader
Foto

ม.วลัยลักษณ์ จับมือภาคีฯ ยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา

ศูนย์บริการวิชาการ ม.วลัยลักษณ์ (มวล.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายภาครัฐและเอกชน ลงพื้นที่บริการวิชาการรับใช้สังคม ยกระดับคุณภาพชีวิตนักเรียนและชาวบ้านชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา ตามแนวทางการสร้างชุมชนต้นแบบ “ต้นไม้แห่งความสุข มวล.” (WU Happy Tree) ทั้ง 5 มิติ ได้แก่ การศึกษา สุขภาพ อาชีพ สิ่งแวดล้อม สังคมและวัฒนธรรม พร้อมผลักดันโรงเรียนชุมชนใหม่เป็นโรงเรียนต้นแบบศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงตามศาสตร์พระราชา ณ โรงเรียนชุมชนใหม่ อ.ท่าศาลา  จ.นครศรีธรรมราช  

                ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อมรศักดิ์ สวัสดี ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ กล่าวในงาน“มวล.สู่โรงเรียน เกื้อกูล กลมเกลียว เกี่ยวร้อยสายใจชุมชนสัมพันธ์” ว่า “ศูนย์บริการวิชาการ มวล.เป็นศูนย์กลางในการประสานความร่วมมือของสำนักวิชาและหน่วยงานต่างๆภายในมหาวิทยาลัย รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ในการลงพื้นที่ เพื่อดำเนินงานบริการวิชาการแก่ชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของมหาวิทยาลัย ตามวิสัยทัศน์ “เป็นองค์การธรรมรัฐ เป็นแหล่งเรียนรู้ เป็นหลักในถิ่น เป็นเลิศสู่สากล” ซึ่งการจะเป็นหลักในถิ่น ได้นั้น มหาวิทยาลัยต้องมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับชุมชน ผ่านการนำองค์ความรู้จากนักวิชาการ นักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาของมหาวิทยาลัย มาช่วยพัฒนาและส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้กับชาวบ้าน เพื่อให้ชุมชนวลัยลักษณ์พัฒนาเป็นชุมชนต้นแบบ ตามแนวทางการดำเนินงาน “ต้นไม้แห่งความสุข มวล. WU Happy Tree” ทั้ง 5 มิติ คือ 1.การเพิ่มศักยภาพด้านการศึกษา  2.การส่งเสริมและดูแลสุขภาพ 3.การยกระดับอาชีพ 4.การดูและรักษาสิ่งแวดล้อม และ5.การส่งเสริมด้านสังคมและวัฒนธรรม 

                ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อมรศักดิ์ กล่าวอีกว่า “การลงพื้นที่ดูแลชุมชนในด้านต่างๆ เป็นความร่วมมือของคณาจารย์ บุคลากรและนักศึกษา จากสำนักวิชาต่างๆของมหาวิทยาลัย และความร่วมมือกับเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมกันพัฒนางานอย่างต่อเนื่อง เพื่อการดำเนินงานที่ตอบโจทย์ความต้องการของชุมชนโดยแท้จริง เช่น 1.มิติด้านการเพิ่มศักยภาพด้านการศึกษา โดยการสอนภาษาอังกฤษและภาษาจีน จากคณาจารย์และนักศึกษาใน สำนักวิชาศิลปศาสตร์ ให้แก่นักเรียนโรงเรียนชุมชนใหม่ 2.มิติด้านการส่งเสริมและดูแลสุขภาพ ผ่านโครงการพัฒนาเครือข่ายและระบบการดูแลฟื้นฟูผู้สูงอายุอย่างยั่งยืน โครงการช่วยเหลือผู้ป่วยติดเตียง โดยคณาจารย์และนักศึกษา จากหลักสูตรกายภาพบำบัด สำนักวิชาสหเวชศาสตร์ การดูแลด้านคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัย โดยสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ 3. มิติด้านการยกระดับอาชีพ โดยการสอนทำลูกประคบ น้ำมันนวดสมุนไพร ส่งเสริมสุขภาวะ เพิ่มรายได้และสร้างอาชีพให้แก่ชุมชนภายใต้แบรนด์ Happy Tree โดยการสนับสนุนองค์ความรู้จาก สำนักวิชาเภสัชศาสตร์ การส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงสุกร การคัดเลือกสายพันธุ์ที่เหมาะสม โดยการสนับสนุนจากสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร การแก้ปัญหาท้องลม ท้องไม่มีลูกในสุกร โดยความช่วยเหลือจากสัตวแพทย์ วิทยาลัยสัตวแพทยศาสตร์อัครราชกุมารี 4.มิติทางด้าน การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม โดยการจัดทำแก็สชีวภาพใช้ในครัวเรือน เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายและแก้ปัญหากลิ่นไม่พึงประสงค์จากมูลสุกร โดยการสนับสนุนองค์ความรู้จากสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี และ การจัดทำหลักสูตรบูรณาการปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จากการสนับสนุนของสำนักวิชาพหุภาษาและการศึกษาทั้วไปและบริษัทเบทาโกร จำกัด (มหาชน) เพื่อผลักดันโรงเรียนชุมชนใหม่ สู่โรงเรียนแกนนำหลักสูตรบูรณาการปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเต็มรูปแบบ ที่ครอบคลุมทั้งด้านทักษะการประกอบอาชีพควบคู่การเรียนรู้ภาษาอังกฤษ ส่งเสริมทั้งมิติทางด้านสังคมและวัฒนธรรม การศึกษาและการประกอบอาชีพแก่นักเรียนและชุมชน

                ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อมรศักดิ์ กล่าวในตอนท้ายว่า “นอกจากพื้นที่โรงเรียนชุมชนใหม่ และชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนาแล้ว การดำเนินงานของศูนย์บริการวิชาการ ภายใต้บริบทการ “เป็นหลักในถิ่น”ยังมีผลงานที่โดดเด่นอื่นๆ เช่น โครงการธนาคารปูม้า,โครงการฟื้นฟูอาชีพชุมชนกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชหลังประสบอุทกภัย,การพัฒนาเครือข่ายและระบบการดูแลฟื้นฟูผู้สูงอายุอย่างยั่งยืน,โครงการขับเคลื่อนการจัดตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบของจังหวัดนครศรีธรรมราชและภาคใต้ตอนบนในอนาคต ด้วยหลักสูตร High-scope และการจัดอบรม “หลักสูตร จิตวิทยาสำหรับครูเพื่อนักเรียนในยุค Generation Z เป็นต้น เพื่อช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตในทุกๆมิติให้แก่คนไทย เพราะเราเชื่อว่ามหาวิทยาลัยและชุมชนต้องอยู่ด้วยกันและเติบโตไปพร้อมๆกันด้วยความเกื้อกูลและกลมเกลียว”

                ทั้งนี้ศูนย์บริการวิชาการ มวล.ได้จัดกิจกรรม “มวล.สู่โรงเรียน เกื้อกูล กลมเกลียว เกี่ยวร้อยสายใจชุมชนสัมพันธ์” เพื่อสรุปผลการดำเนินงานยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา ณ โรงเรียนชุมชนใหม่ เมื่อวันศุกร์ที่ 22 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา โดยมีศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัวลัยลักษณ์ เป็นประธานกล่าวให้โอวาท มอบของขวัญปีใหม่ให้แก่คณะครูและนักเรียน พร้อมเยี่ยมชมศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงตามศาสตร์พระราชาอีกด้วย

                ผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามงานบริการวิชาการด้านต่างๆของ มวล. ได้ที่ ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ 222 ตำบลไทยบุรี อำเภอท่าศาลา นครศรีธรรมราช 80160 โทรศัพท์ 075-673528 โทรสาร 075-673525 E-mail : [email protected] Website : https://cas.wu.ac.th Facebook : ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

Political News