สำนักข่าวไทยไทม์นิวส์ • ThaitimeNews
loader
Foto

อพท.ชวนเที่ยว‘เขากระโดง’จังหวัดบุรีรัมย์ชมความงามปากปล่องภูเขาไฟ‘ไม่ว่าใครก็เที่ยวได้’

          ความหมายตรงตามที่บอกว่า “ไม่ว่าใครก็เที่ยวได้” แม้จะเป็นปากปล่องภูเขาไฟที่สูงจากระดับน้ำทะเล 230 เมตร เพราะที่แห่งนี้คือ “เขากระโดง” แหล่งท่องเที่ยวอารยสถาปัตย์ของจังหวัดบุรีรัมย์ เมืองแห่งภูเขาไฟ เพราะเป็นที่ตั้งของภูเขาไฟที่ดับแล้วถึง 6 ลูก  โดยเขากระโดงเป็นภูเขาไฟ 1 ใน 6 แห่งของจังหวัดนี้

          ความพิเศษของเส้นทางท่องเที่ยวเขากระโดง คือเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับการพัฒนาและปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบของ “วนอุทยานภูเขาไฟเขากระโดง” ให้มีความสวยงาม มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้ทุกเพศ ทุกวัย และทุกสภาพร่างกาย ให้สามารถเดินทางเข้าถึงและชื่นชมความงามตามธรรมชาติได้ถึงปากปล่องภูเขาไฟ และจุดชมวิว ซึ่งเป็นที่ประดิษฐสถานของพระสุภัทรบพิตรจำลององค์ใหญ่ ที่ตั้งตระหง่านอยู่ ณ จุดชมวิว ให้ผู้คนได้ชมทั้งทิวทัศน์ความงามของเมืองบุรีรัมย์ในมุมสูง และยังได้กราบสักการะพระภัทรบพิตร เพื่อเป็นสิริมงคลในการดำเนินชีวิตต่อไป

***ชวนมารู้จักภูเขาไฟ “เขากระโดง”***

          ป่าเขากระโดงมีเนื้อที่กว่า 8,000 ไร่ ชาวบ้านเรียกว่า “พนมกระดอง” เป็นภาษาเขมร แปลว่า “ภูเขากระดอง (เต่า)” เพราะภูเขาแห่งนี้มีลักษณะคล้ายกระดองเต่า ต่อมาจึงเพี๊ยนเป็น “กระโดง”  ในอดีตเป็นที่ดินสาธารณะประโยชน์ที่ชาวบ้านนำสัตว์มาเลี้ยง ต่อมาปีพ.ศ. 2521 จังหวัดบุรีรัมย์ จึงเสนอป่าเขากระโดง ในท้องที่ตำบลเสม็ดและตำบลสวายจีก เนื้อที่ 1,450 ไร่ อยู่ห่างจากตัวเมืองราว 6 กิโลเมตร โดยป่าเขากระโดงได้ตั้งเป็นวนอุทยาน เพื่อเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจสำหรับประชาชน ซึ่งกรมป่าไม้ได้ออกหนังสือประกาศจัดตั้งลงวันที่ 22 มีนาคม 2521 หลังจากนั้นจึงกำหนดให้เขากระโดงเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่า และในปี 2552 มีการขอเปลี่ยนชื่อเป็น “วนอุทยานภูเขาไฟกระโดง” เพื่อให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ปัจจุบันได้ประกาศเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าภูเขาไฟกระโดง

          สภาพของภูเขาแห่งนี้ ส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูงเนินเขา เป็นป่าเต็ง-รัง มีเนินเขาขนาดเล็ก 2 ลูกติดกันสูงจากพื้นที่โดยรอบประมาณ 85 เมตร ตั้งอยู่ใจกลางเมือง เนินทางทิศใต้เรียกว่า “เขาใหญ่”  ส่วนเนินทางทิศเหนือเรียกว่า “เขากระโดง” หรือ “เขาน้อย”  ความสำคัญของผืนป่าแห่งนี้เสมือนเป็นธนาคารอาหารป่า เพราะอุดมไปด้วยพืชอาหารและสมุนไพรนานาประเภทกว่า 100 ชนิด  มีเห็ดกินได้กว่า 20 ชนิด นกน้ำและนกป่ากว่า 100 ชนิด สัตว์ที่พบบ่อยคืองูหลาม กระต่ายป่า ไก่ป่า กระรอกบินจิ๋วท้องขาว กระรอกหลากสี นกขุนแผนสีน้ำเงินนกบั้งรอกใหญ่ และนกกระรางหัวหงอก เป็นต้น

          เขากระโดง เป็น 1 ใน 6 ภูเขาไฟที่ตั้งในจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นภูเขาไฟที่ดับมอดแล้วมาเป็นเวลานับแสนปี คงเหลือไว้ซึ่งความอุดมสมบูรณ์และความสวยงามของธรรมชาติและป่าไม้  มีพันธ์ไม้หายากอย่างต้น โยนีปีศาจ หรือที่คนพื้นเมืองเรียนกันว่าต้นหีผี และอีกหลายๆชื่อ เช่น ต้นมะกอกเผือก ต้นมะกอกโคก  โดยภาษาเขมรจะเรียกต้นนี้ว่า ต้นกะนุยขมอย   เป็นที่ตั้งของปราสาทหินเขากระโดง ซึ่งสร้างขึ้นก่อนสมัยสุโขทัย เดิมเป็นปรางค์หินทรายก่อบนฐานศิลาแลงองค์เดียวโดดๆ ฐานสี่เหลี่ยมขนาด 4x4 เมตร มีช่องทางเข้า 4 ด้าน  ต่อมาหินดังกล่าวได้พังลง  จึงได้มีผู้นำหินมาเรียงขึ้นใหม่แต่ไม่ตรงตามรูปเดิม ต่อมาตระกูลสิงห์เสนีย์ ได้สร้างพระพุทธบาทจำลองมาประดิษฐานไว้ในปราสาท และสร้างมณฑปครอบทับไว้บนปราสาท พร้อมประกาศในราชกิจจานุเบกษาขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ

ส่วนที่จุดชมวิวยังเป็นที่ประดิษฐานของพระสุภัทรบพิตร ขนาดหน้าตักกว้าง 12 เมตร ฐานกว้าง 14 เมตร ภายในเศียรบรรจุพระธาตุหรือพระบรมสารีริกธาตุ ประทับอยู่ขอบปากปล่องภูเขาไฟ รูปจันทร์เสี้ยว หันหน้าไปทางทิศเหนือเข้าเมืองบุรีรัมย์

***ความพิเศษของเขากระโดง***       

นอกจากเขากระโดงเป็นแหล่งท่องเที่ยวศึกษาธรรมชาติและพรรณไม้แล้ว จุดไฮไลท์ของเขากระโดง คือปากปล่องภูเขาไฟที่ดับแล้ว ที่นักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปเยี่ยมชมได้  โดยเทศบาลเมืองบุรีรัมย์ และจังหวัดบุรีรัมย์ได้สร้างสะพานแขวน ให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินชมปากปล่องภูเขาไฟได้อย่างใกล้ชิด 

          ความสะดวกในการเข้าชมแต่ละจุดท่องเที่ยว นอกจากเทศบาลเมืองบุรีรัมย์ และจังหวัดบุรีรัมย์ได้ทุ่มงบประมาณในการพัฒนา ปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบให้สวยงามเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว ยังได้เพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวในทุกสภาพร่างกายได้มีโอกาสเข้าชมความงามและศึกษาธรรมชาติด้วยการจัดทำทางเดินที่เหมาะกับทุกเพศ วัย และทุกสภาพร่างกาย โดยผู้ที่ใช้รถวีลแชร์ก็สามารถเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวในแต่ละจุดได้อย่างสะดวกสบาย  นอกจากนั้น ในการเดินทางขึ้นเขา รถยนต์ก็สามารถขับไปส่งได้ถึงที่  

          ล่าสุดองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. ยังหารือร่วมกับจังหวัดบุรีรัมย์ องค์กรภาคีเครือข่ายในจังหวัดบุรีรัมย์และสุรินทร์ อาทิ ชมรมทูตอารยสถาปัตย์จังหวัดบุรีรัมย์ / ทกจ.บุรีรัมย์ / พมจ.บุรีรัมย์ / ททท. สำนักงานบุรีรัมย์และสำนักงานสุรินทร์ / สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดบุรีรัมย์ / สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดบุรีรัมย์ / และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าภูเขาไฟกระโดง เพื่อหารือแนวทางการดำเนินกิจกรรมเผยแพร่องค์ความรู้และพัฒนาการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล (Tourism for All) ในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวอารยธรรมอีสานใต้

          โดย อพท. จะกำหนดแผนการพัฒนาให้พื้นที่นี้เป็นพื้นที่เป้าหมายต้นแบบแหล่งท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล โดยในระยะแรกจะเน้นพัฒนาความร่วมมือระหว่างภาคีที่เกี่ยวข้อง ผ่านกิจกรรมการถ่ายทอดองค์ความรู้ และจะลงนามความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง อพท. ชมรมทูตอารยสถาปัตย์ และหน่วยงานในจังหวัดบุรีรัมย์และสุรินทร์ 

          เขากระโดงจัดเป็นแหล่งท่องเที่ยวศึกษาธรรมชาติที่เหมาะกับทุกเพศวัย และทุกสภาพร่างกายอย่างแท้จริง และยังสามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้ตลอดปี  เป็นอีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยวที่ต้องการนำเสนอให้นักท่องเที่ยวได้แวะเวียนเข้าไปสัมผัสและชื่นชมความงามของธรรมชาติหากได้มีโอกาสไปเที่ยวยังจังหวัดบุรีรัมย์ นอกจากการเที่ยวชมความงามของปราสาทหินพนมรุ้ง และปราสาทเมืองต่ำ หรือชมความยิ่งใหญ่ของสนาม ‘ช้างอารีน่า’ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวที่แม้ไม่ใช่คอบอล ก็ต้องแวะเข้าไปสัมผัสบรรยากาศ  นอกจากนั้นจังหวัดบุรีรัมย์ยังอีกอีกหลายแหล่งท่องเที่ยวและหลากหลายกิจกรรมท่องเที่ยวตามชุมชนต่างๆ ที่บ่งบอกถึงอัตลักษณ์และวิถีชีวิต ภูมิปัญญาท้องถิ่น ตลอดจนสินค้าและบริการของชุมชนซึ่งนักท่องเที่ยวที่มาเยือนไม่ควรพลาด

Political News