สำนักข่าวไทยไทม์นิวส์ • ThaitimeNews
loader
Foto

มข.หารือร่วม จ.ขอนแก่น มุ่งวางแนวทางสร้างความเข้มแข็งเกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีด

รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวในโอกาสการประชุมปรึกษาหารือแนวทางการดำเนินโครงการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพด้านปศุสัตว์ (จิ้งหรีด)ในจังหวัดขอนแก่น ว่า การประชุมในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งในโครงการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพด้านปศุสัตว์ในจังหวัดขอนแก่น มีวัตถุประสงค์เพื่อหาแนวทางการสร้างความเข้มแข็งแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีดอย่างเป็นระบบ เสริมสร้างและเพิ่มทักษะ องค์ความรู้ ในการเลี้ยงจิ้งหรีดคุณภาพเชิงพาณิชย์ และ ยกระดับการเลี้ยงจิ้งหรีดสู่อาชีพหลักของเกษตรกรอย่างยั่งยืน 

ทั้งนี้ เป็นที่ทราบกันดีว่าองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO ยกให้จิ้งหรีดเป็นแหล่งอาหาร โปรตีนแห่งอนาคต มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดย ศาสตราจารย์ดร. ยุพา หาญบุญทรง และ นักวิจัยท่านอื่น ๆ ได้ศึกษาวิจัย เกี่ยวกับจิ้งหรีดมาหลายปี กระทั่งปี พ.ศ. 2562 สถาบันวิจัยยุทธศาสตร์และประสาน ความร่วมมือเพื่อพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงาน คณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และสำนักงานการวิจัย แห่งชาติ (วช.) จัดทำโครงการการพัฒนาเกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สู่ระบบการผลิตที่ได้มาตรฐานความปลอดภัย และสามารถส่งเสริม สนับสนุนเกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีดบ้านแสนตอ ตำบลบัวใหญ่ อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ให้ได้รับมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มจิ้งหรีด หรือ GAP กว่า 21 ฟาร์ม จาก 36 ฟาร์มทั้งประเทศ ซึ่งถือว่ามากที่สุดในประเทศไทย

“จิ้งหรีดถือเป็น 1 ใน 6 อาชีพของแนวทางการขับเคลื่อนจังหวัดขอนแก่น ขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยขอนแก่นมีความพร้อมทั้งองค์ความรู้ งานวิจัย ที่จะต่อยอดสู่การพัฒนา ฉะนั้นการประชุมครั้งนี้จึงเป็นโอกาสดีที่จังหวัดขอนแก่นและมหาวิทยาลัยขอนแก่น จะได้ดำเนินงานร่วมกันเพื่อส่งเสริมอาชีพเลี้ยงจิ้งหรีดให้กับเกษตรกรในจังหวัดขอนแก่นตามแนวทางการพัฒนา  หวังเป็นอย่างยิ่งว่า หลังจากการประชุมในวันนี้จะได้มีการขับเคลื่อนเป็นเป็นรูปธรรม ต่อไป” อธิการบดี ม.ขอนแก่น กล่าว

สำหรับโครงการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพด้านปศุสัตว์ในจังหวัดขอนแก่น ที่ดำเนินโครงการด้านการ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตจิ้งหรีดเชิงพาณิชย์เพื่อความมั่นคงด้านอาหาร มีสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดขอนแก่น เป็นผู้ดูแลโครงการ มีระยะเวลาดำเนินโครงการ 1  ปี  เริ่มตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2563  – 30 กันยายน  2564 มีกลุ่มเป้าหมายเป็นเกษตรกร 300 ครัวเรือน ในพื้นที่ 26 อำเภอของจังหวัดขอนแก่น โดยได้วางเป้าหมายให้มีฟาร์มผลิตจิ้งหรีดคุณภาพเชิงพาณิชย์ เพื่อบริโภคในประเทศและส่งออก ไม่น้อยกว่า ๓๐๐ ฟาร์ม มีฟาร์มผลิตจิ้งหรีดที่ผ่านการรับรองมาตรฐานฟาร์ม ไม่น้อยกว่า ๑๕๐ ฟาร์ม และ มีกลุ่มและเครือข่ายผู้เลี้ยงจิ้งหรีดที่มีความเข้มแข็ง และยั่งยืน และพัฒนาสู่อาชีพหลัก ไม่น้อยกว่า ๑๐ กลุ่ม

Political News