สำนักข่าวไทยไทม์นิวส์ • ThaitimeNews
loader
Foto

อพท.ดันท่องเที่ยวโดยชุมชนสู่ท่องเที่ยวยั่งยืนระดับเวิล์ดคลาส

อพท.เดินหน้าพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวติดท่องเที่ยวยั่งยืนระดับโลก ชู GSTC ซึ่งเป็นเกณฑ์ของสภาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลกมาเป็นเกณฑ์ในการพัฒนา เตรียมส่ง น่าน สุพรรณบุรี เป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของ UNESCO ปี 2564

ดร.ชูวิทย์  มิตรชอบ รักษาการผู้อำนวยการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เปิดเผยว่า อพท.มีนโยบายที่จะพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้ตอบโจทย์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยจะใช้เครื่องมือที่เรียกว่า Global Sustainable Tourism Criteria (GSTC) ซึ่งเป็นเกณฑ์ของสภาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลกมาเป็นเกณฑ์ในการพัฒนา มีทั้งหมด 4 มิติ 

มิติแรกเป็นเรื่องของการบริหารจัดการ ซึ่งรวมถึงความปลอดภัยนักท่องเที่ยว และการจัดทำแผน มิติที่สอง ด้านสังคมเศรษฐกิจ มิติที่สาม ด้านวัฒนธรรม และมิติที่สี่ด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะนำเอา 4 มิตินี้ ที่มีทั้งหมด 41 ข้อ 105 ตัวชี้วัด ไปทาบกับทุกพื้นที่ที่ลงไปทำงาน แล้วก็วัดผลออกมาเป็นระดับสี 4 สีด้วยกัน คือ สีแดงคือหนักที่สุด ตามด้วยสีชมพู สีเหลือง และสีเขียวคือดีที่สุด ซึ่งจะพัฒนาทุกพื้นที่ให้ได้ระดับสีเขียว เพื่อให้ได้มาตรฐานการท่องเที่ยวตามเกณฑ์ของสภาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก

ทั้งนี้ เรื่องความยั่งยืนทั้ง 4 มิติ ควรจะจบที่คำว่า นักท่องเที่ยวกับชุมชนหรือประชาชนในพื้นที่ จะต้องมีความสุขร่วมกัน ซึ่งในแหล่งท่องเที่ยว หากชุมชนเต็มไปด้วยข้อห้าม นักท่องเที่ยวก็ไม่มีความสุข ในขณะเดียวกันถ้าเกิดนักท่องเที่ยวอยากทำตามใจตัวเอง แต่ชุมชนไม่มีความสุข ก็ไม่ยั่งยืนเหมือนกัน เพราะฉะนั้นจะต้องมีความสุขร่วมกัน โดยที่ชุมชนต้องมีรายได้เพิ่มขึ้นจากนักท่องเที่ยว ขณะที่อัตลักษณ์ วิถีชีวิต ทรัพยากรทางด้านสิ่งแวดล้อมก็ไม่ได้ถูกทำลายไปด้วย นั่นคือความหมายของคำว่า “ยั่งยืน”

โดยได้ถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับการยกระดับคุณภาพและมาตรฐานแหล่งท่องเที่ยวด้วยเกณฑ์ GSTC ให้ทุกภาคส่วนเข้าใจตรงกัน ซึ่งเกณฑ์ GSTC เป็นแนวทางดำเนินงานที่ อพท. จะนำไปปรับใช้กับทุกพื้นที่พิเศษ และในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวทั่วประเทศ เพื่อยกระดับคุณภาพและมาตรฐานในจัดการแหล่งท่องเที่ยว ให้เกิดความยั่งยืน มีมาตรฐานระดับสากล ซึ่งจะช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ และจะช่วยให้ภาคีได้เข้าใจถึงกลไกการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และมีแนวทางดำเนินการตามเกณฑ์ GSTC

“ ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าการทำงานของ อพท. เน้นเรื่อง Supply side มาก คือเราทำงานอยู่กับอัตลักษณ์ของชุมชนและจิตวิญญาณเป็นหลัก จะขายโปรแกรมท่องเที่ยวได้หรือไม่ได้ เราไม่สนใจเลย แต่ช่วงหลังๆ ก่อนจะเกิดโควิด เราเริ่มที่จะสนใจกระแส Demand side มากขึ้นว่านักท่องเที่ยวต้องการอะไร ชุมชนก็พยายามปรับตัวให้เข้ากับตลาด ตามความต้องการของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น แต่ประเด็นคือหลังจากนักท่องเที่ยวกลับมาแล้ว ต้องมีเรื่องของความปลอดภัยและสุขอนามัยต่างๆ ที่ฝั่งของ Supply side โดยเฉพาะชุมชนจะต้องปรับตัว ทาง อพท. จึงได้นำมาตรฐานที่ทุกคนยอมรับมาใช้ นั่นก็คือ Amazing Thailand Safety and Health Administration (SHA) ของ ททท. ที่ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข หรือการรับรองความปลอดภัยด้านสุขอนามัย 10 ประเภทด้วยกัน ตั้งแต่โรงแรมไปจนถึงแหล่งท่องเที่ยว ร้านอาหาร แม้กระทั่งรถขนส่งที่ใช้รับส่งนักท่องเที่ยว นั่นหมายความว่าชุมชนไหนที่ต้องการลุกขึ้นมาทำธุรกิจในเรื่องท่องเที่ยวหลังโควิด ควรจะต้องได้รับการรับรองเครื่องหมาย SHA เพราะเป็นการการันตีต่อนักท่องเที่ยวว่าเข้ามาเที่ยวได้ ไม่มีปัญหา เรื่อง Hygiene และเรื่อง Safety รวมถึงช่วยส่งเสริมเรื่องของภาพลักษณ์ที่ดีขึ้นได้”ดร.ชูวิทย์ กล่าว

ดร.ชูวิทย์ กล่าวอีกว่า เป้าหมายระยะสั้น คือ อพท.จะผลักดันให้ชุมชนได้รับเครื่องหมาย SHA มากที่สุด รวมถึงเกณฑ์ CBT Thailand ส่วนระยะกลาง มีหมุดหมายว่า จะส่งเมืองที่มีศักยภาพไปเข้าเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของ UNESCO โดยในปี 2564 จะส่งจังหวัดน่าน ไปเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน (Craft and Folk Arts) ในเรื่องของผ้าทอและเครื่องเงิน โดยร่วมมือกับภาคีเครือข่าย อาทิ กรมทางหลวง ซึ่งจะไปพัฒนาและสร้างบรรยากาศในด้านหัตถกรรม ปรับปรุงศาลากลางหลักเก่าให้เป็นพิพิธภัณฑ์ เป็นศูนย์เรียนรู้ทางวัฒนธรรม ล้านนาตะวันตก เป็นพื้นที่สำหรับเด็กรุ่นใหม่ที่จะนำแสนแนวคิด หรือไอเดียใหม่ ๆ ในการเรื่องออกแบบ 

รวมถึงจะส่งจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านดนตรี เพราะสุพรรณบุรีเป็นเมืองที่เป็นแหล่งกำเนิดของครูเพลงมาก มีความโดดเด่น ในเรื่องเพลงพื้นบ้านที่หลากหลาย อาทิ เพลงฉ่อย เพลงอีแซว หรือเพลงร่วมสมัยอื่นๆ ที่ได้รับการส่งต่อและประยุกต์จากรุ่นสู่รุ่น ถูกถ่ายทอดโดยศิลปินคนท้องถิ่นของสุพรรณบุรี ผลิตศิลปินเพลงพื้นบ้าน เพลงป๊อบ เพลงร็อก เพลงเพื่อชีวิต อาทิ ไวพจน์ เพชรสุพรรณ  พุ่มพวง ดวงจันทร์ และแม่ขวัญจิต ศรีประจันต์ (นางเกลียว เสร็จกิจ) ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงพื้นบ้าน-อีแซว) ปี 2539 ครูจิราภรณ์ พี่ตูน บอดี้ สแลม โดยร่วมมือกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุพรรณบุรี  และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ชุมชน และประชาชน 

ส่วนในระยะยาว ตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป จะนำเชียงคาน จังหวัดเลย และในเวียง จังหวัดน่าน ซึ่งได้ 100 แหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนระดับโลก หรือ Sustainable Destinations TOP 100 แล้ว จากหน่วยงานระดับโลก Green Destinations Foundation ประเทศเนเธอร์แลนด์ ร่วมกับคณะผู้จัดงานส่งเสริมการท่องเที่ยวระดับโลก ITB (Internation Tourism Borse) กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนีไปเข้าแท่นของ Green Destinations Foundation อีกครั้ง ซึ่งครั้งนี้จะไม่ใช่อันดับแล้ว แต่จะเป็นรูปแบบรางวัลที่มีการแบ่งระดับ มาตรฐานเดียวกับแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนในยุโรปและเอเชีย

Political News