สำนักข่าวไทยไทม์นิวส์ • ThaitimeNews
loader
Foto

บสย.-กพร.ห่วงคนตกงาน ลงนาม อุ้มแรงงาน 95,000 คน ดึง 4 ธนาคารร่วม ส่ง 8 โครงการปล่อยสินเชื่อ + ค้ำประกัน

 บสย. - กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ร่วมบูรณาการฝ่า COVID-19 พลิกวิกฤตว่างงาน สร้างทักษะ ยกระดับฝีมือ ให้โอกาสเข้าถึงแหล่งทุน  ลงนามความร่วมมือ  “โครงการพัฒนาทักษะและส่งเสริมการประกอบอาชีพ” สร้างอาชีพคนตกงาน คาด อุ้มแรงงาน 95,000  คน เกิดสินเชื่อในระบบสร้างอาชีพอิสระ 29,300 ล้านบาท 

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า  บสย. พร้อมให้ความสนับสนุนกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) หน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงแรงงาน  เพื่อช่วยเหลือตลาดแรงงานที่กำลังได้รับผลกระทบจากวิกฤต COVID-19 ทั้งกลุ่มตกงาน ว่างงาน และแรงงานกลุ่มที่มีความสามารถด้านงานช่าง หรืออาชีพอื่นๆ ที่ต้องการก้าวสู่ชีวิตใหม่ เป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ ภายใต้แนวคิด “บสย. เพื่อนแท้ SMEs ไทย ทางรอดใหม่ คู่ใจยามวิกฤต” มอบโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุน  โดย บสย. ให้การค้ำประกันสินเชื่อ จากกลุ่มธนาคารพันธมิตรที่เข้าร่วมโครงการ ให้กับกลุ่มแรงงานที่ได้พัฒนาเพิ่มทักษะและฝีมือจาก กพร.

การร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้ เกิดขึ้นจากการมีพันธกิจใกล้เคียงกัน ในการช่วยเหลือของ บสย. และ กพร. ที่ช่วยเหลือแรงงานและกลุ่มคนตกงาน บัณฑิตจบใหม่ให้มีทางรอดโดยเข้าสู่การเป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ  ในโครงการพัฒนาทักษะและส่งเสริมการประกอบอาชีพ 

การจัดงานครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วย นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกระทรวงแรงงาน  และ 4 ธนาคารพันธมิตร ที่มีโครงการสินเชื่อช่วยเหลือกลุ่มแรงงานและอาชีพอิสระต่างๆและในการนี้ บสย. ยังได้นำเสนอศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน SMEs (บสย. F.A. Center) ที่เป็นทั้งที่ปรึกษาทางการเงินและศูนย์ให้ข้อมูลความรู้ เข้าสู่การเป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระในธุรกิจต่างๆ เพื่อเป็นการช่วยกันยกระดับฝีมือแรงงาน อาทิ ช่างชุมชน ช่างไฟฟ้า ช่างประปา ช่างซ่อมรถ ช่างแอร์ ช่างตัดผม ช่างก่อสร้าง เพื่อส่งเสริมแรงงานที่ตกงานให้เป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ ที่ได้รับการสนับสนุนด้านสินเชื่อเพื่อประกอบอาชีพแบบครบวงจร

สถานการณ์ด้านแรงงานของไทยปัจจุบันคาดว่า ยังคงเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID -19  จากข้อมูล ไตรมาส 2/2563 การประเมินสถานการณ์แรงงาน โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีผู้ว่างงานสะสมจำนวน 1.6 ล้านคน  แบ่งเป็นกลุ่มผู้ว่างงาน 1.1 ล้านคน และ กลุ่มบัณฑิตจบใหม่ 5 แสนคน  และมีกำลังแรงงาน (ประชากรวัยแรงงาน อายุ 15-60 ปี)  38.2 ล้านคน  โดยในไตรมาส 4/2563 ประมาณการว่า จะมีผู้ว่างงานสะสมจำนวน 2.5 ล้านคน คิดเป็นอัตราการว่างงานสะสม 6.5%   แบ่งเป็นกลุ่มผู้ว่างงาน  2 ล้านคน  กลุ่มบัณฑิตจบใหม่ 5 แสนคน  และมีกำลังแรงงาน 38.4 ล้านคน

การดำเนินโครงการความร่วมมือนี้จะนำไปสู่ผลสำเร็จ  3 สร้าง คือ 1.สร้างความรู้โดยพัฒนาองค์ความรู้เพื่อต่อยอดและเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ  2.สร้างอนาคตโดยให้เข้าถึงแหล่งทุนง่ายขึ้น 3.สร้างโอกาสเชื่อมโยงธุรกิจต่อยอดด้านการขาย  โดย บสย. ทำหน้าที่สนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ช่วยลดความเสี่ยงและสร้างความมั่นใจให้สถาบันการเงินที่มีโครงการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ว่างงานและผู้ประกอบอาชีพอิสระ ที่ร่วมเข้ากับโครงการค้ำประกันสินเชื่อ บสย. ซึ่งปัจจุบัน ได้แก่ โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Micro 3   โครงการค้ำประกันสินเชื่อ บสย. SMEs ไทยชนะ และ โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Start up & Innobiz   สอดคล้องกับแนวทางการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ   ซึ่งปัจจุบัน ดร.รักษ์ เป็นหนึ่งในคณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)

สำหรับธนาคารที่พร้อมให้การสนับสนุนสินเชื่อขณะนี้มี 4 ธนาคาร ได้เตรียมวงเงินสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบอาชีพอิสระ 8 โครงการ ประกอบด้วย

  1. ธนาคารออมสิน จำนวน 5 โครงการ ได้แก่
  2. โครงการสินเชื่อเพื่อ Street food วงเงิน 3 ล้านต่อราย
  3. โครงการสินเชื่อธุรกิจแฟรนไชส์ วงเงิน 1 ล้านบาทต่อราย
  4. โครงการสินเชื่อประชาชนสุขใจ วงเงิน 200,000 บาทต่อราย
  5. โครงการสินเชื่อสำหรับผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ วงเงิน 50,000 บาทต่อราย
  6. โครงการสินเชื่อเสริมพลังฐานราก วงเงิน 50,000 บาทต่อราย
  7. ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน) จำนวน 1 โครงการ ได้แก่ โครงการสินเชื่อนาโนและไมโครเครดิตเพื่อธุรกิจรายย่อย วงเงิน 200,0000 บาทต่อราย
  8. ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) จำนวน 1 โครงการ ได้แก่ สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ วงเงิน 200,000 บาทต่อราย
  9. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 1 โครงการ ได้แก่ สินเชื่อฮักบ้านเกิด

การร่วมมือของ กพร. บสย. และธนาคารพันธมิตรในครั้งนี้ คาดว่าจะก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบจากการค้ำประกันสินเชื่อ บสย. จำนวน 29,300 ล้านบาท และ ช่วยอุ้มแรงงาน 95,000  คน ให้กลับมามีอาชีพและทางรอดในการฝ่าวิกฤต COVID-19

ในส่วน กพร. จะดำเนินการสนับสนุนช่วยเหลือกลุ่มแรงงาน 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1. กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการถูกเลิกจ้างและต้องการสร้างอาชีพ 2. กลุ่มผู้ว่างงาน ที่ต้องการประกอบอาชีพอิสระ และ 3. กลุ่มที่ให้ความรู้ด้านช่างและอาชีพต่างๆ และต้องการผันตัวเองเป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ ทำหน้าที่ให้ความรู้และฝึกทักษะต่างๆ ภายใต้ 3 หน่วยงานหลักคือ 1. สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 77 ทั่วประเทศ ในการจัดหลักสูตรฝึกอบรมและทดสอบฝีมือแรงงาน    2. สำนักพัฒนาผู้ฝึกและเทคโนโลยีการฝึก หน่วยงานทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานและหลักสูตรการอบรม Online 3.กองพัฒนาศักยภาพแรงงานและผู้ประกอบกิจการ ดูแลและให้คำปรึกษาผู้ประกอบการ SMEs ในการเพิ่มผลิตภาพแรงงานในสถานประกอบการตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน รับรองความรู้ความสามารถและการประกันคุณภาพ และ แอปพลิเคชั่น “รวมช่าง” เพื่อเป็นศูนย์รวมช่างมืออาชีพ

นับเป็นโอกาสสำคัญในการส่งผ่านความช่วยเหลือ ในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2563 เพื่อเปิดโอกาสการมีงานทำ  เปิดประตูสู่การเป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระตามที่ตนถนัด และพร้อมยกระดับพัฒนาฝีมือ โดยมี บสย. และ กพร. เป็นพี่เลี้ยงด้านการยกระดับฝีมือ และที่ปรึกษาทางการเงิน เป็นการสร้างทางรอดอย่างยั่งยืนและช่วยลดอัตราการว่างงานในระบบได้ โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานฐานรากที่เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

EXIM BANK บรรยาย “เคล็ดลับขอสินเชื่อผ่านฉลุย ยอดขายปัง” ในงาน Money Expo 2024

EXIM BANK เข้าพบรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

โตโยต้า จับมือ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ฝึกอบรมยกระดับฝีมือ หลักสูตรช่างซ่อมตัวถังและสีรถยนต์

EXIM BANK จับมือ สกพอ. สนับสนุนผู้ประกอบการและวิสาหกิจชุมชน เชื่อมโยงการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายสู่ Supply Chain การส่งออก

EXIM BANK จับมืออัลเตอร์วิมสร้าง Green Supply Chain นำผู้ประกอบการต้นน้ำถึงปลายน้ำสร้างสังคมคาร์บอนต่ำและโลกที่ยั่งยืน

EXIM BANK ชี้เศรษฐกิจไทยปี 67 ลุ้นส่งออกขยายตัวครั้งแรกในรอบ 2 ปี ชูนวัตกรรมการเงินดอกเบี้ยผ่อนปรนทุกขนาดธุรกิจตลอด Green Export Supply Chain

Political News