สำนักข่าวไทยไทม์นิวส์ • ThaitimeNews
loader
Foto

รมว.อว.ตรวจติดตามการดำเนินงาน วว. ในกรอบนโยบาย BCG การทดสอบระบบมาตรฐานทางราง

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย  (วว.)  กระทรวงการอุดมศึกษา  วิทยาศาสตร์  วิจัยและนวัตกรรม  (อว.)  โชว์ผลการดำเนินงานตามนโยบาย BCG  งานทดสอบระบบมาตรฐานทางราง  การตอบโจทย์/ เสริมศักยภาพเกษตรกร  ผู้ประกอบการ ด้วยวิทยาศาสตร์  เทคโนโลยีและนวัตกรรม  ต้อนรับ  “ศ.ดร.เอนก   เหล่าธรรมทัศน์”  รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. และคณะ  ในโอกาสติดตามการดำเนินงานขององค์กร  โดยมี ดร.พสุ  โลหารชุน  ประธานคณะกรรมการบริหาร วว.  คณะกรรมการบริหาร  ดร.ชุติมา  เอี่ยมโชติชวลิต  ผู้ว่าการ วว. พร้อมทั้งคณะผู้บริหารและบุคลากร ร่วมให้การต้อนรับและรายงานความสำเร็จ ความก้าวหน้าการดำเนินงาน   ในวันที่ 16 กันยายน  2563 ณ วว. เทคโนธานี คลองห้า จังหวัดปทุมธานี

“ศ.ดร.เอนก   เหล่าธรรมทัศน์”  รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ได้มอบนโยบายการดำเนินงานให้ วว. ความโดยสรุปว่า  การดำเนินงานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของ วว.  มีประโยชน์ทั้งต่อเกษตรกร ผู้ประกอบการ และมีการเชื่อมโยงงานวิจัยไปยังภาคอุตสาหกรรม  ทั้งนี้การดำเนินงานของ วว. ในก้าวต่อไป หากมีการจัดทำโครงการเป็นแพคเกจด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งการแก้ไขปัญหาความยากจน  แก้ปัญหาความห่างไกลทุรกันดาร  แก้ปัญหาการขาดโอกาสของแต่ละพื้นที่ ก็จะทำให้ผลงานของ วว. มีประโยชน์มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้หากมีการเชื่อมโยงการดำเนินงานกับกระทรวงอื่นๆให้มากขึ้น ก็จะมีการใช้ประโยชน์จากผลงานของ วว. หลากหลายขึ้นและเป็นที่ต้องการของกลุ่มต่างๆ  ซึ่งจะทำให้บทบาทของ วว.  เป็นศาสตร์ที่นำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม

 “...จุดแข็งของ วว.  คือ มีการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสม เป็น  Appropriate Technology  ซึ่งสามารถนำไปใช้ได้จริงและมีประโยชน์ในระดับเหมาะสม  ตัวอย่างเช่น  การดำเนินงานด้าน BCG  ที่มีการเพิ่มมูลค่าของเหลือใช้ให้เกิดประโยชน์ที่ทำให้ วว. มีงานวิจัยซึ่งเป็นที่ต้องการของผู้นำไปใช้มากขึ้นโดยเฉพาะ SMEs วิสาหกิจชุมชนและภาคอุตสาหกรรม  ดีใจได้เห็นความก้าวหน้าทางด้านนี้  สามารถทำให้เกิดมูลค่าสูงอ  วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมจะช่วยทำให้มีรายได้ เนื่องจากรัฐบาลมีการส่งเสริมงานวิจัยที่ช่วยแก้ปัญหาความยากจน ในด้านจุลินทรีย์  วว. มีผลงานหลากหลายน่าสนใจ   การทดสอบมาตรฐานระบบรางที่ช่วยเสริมความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการ  ช่วยลดต้นทุนการผลิต มีการผลิตบุคลากรด้านการทดสอบ ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่รัฐบาลและประเทศต่างๆ มีการขับเคลื่อนด้านนี้  ซึ่งสอดคล้องกับภารกิจของกระทรวง อว. ที่เป็นกระทรวงแห่งโอกาส...” รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. กล่าว

สำหรับผลงานความสำเร็จของ วว. ที่ได้จัดแสดงนิทรรศการนำเสนอต่อ ศ.ดร.เอนก   เหล่าธรรมทัศน์ และคณะ ประกอบด้วย

1.ฐานข้อมูลจุลินทรีย์และการนำไปใช้ประโยชน์   วว. โดย ศูนย์จุลินทรีย์ (TISTR  Culture  Collection) มีวัตถุประสงค์ในการเก็บรักษาสายพันธุ์จุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมอาหาร ยา เกษตร และสิ่งแวดล้อมแบบนอกถิ่นกำเนิด  โดยมุ่งเน้นการใช้ประโยชน์จุลินทรีย์ในระดับชุมชน และอุตสาหกรรม เช่น ผลิตภัณฑ์ชุมชน (OTOP) ด้านอาหาร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (Functional food) ผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม และเวชสำอางจากจุลินทรีย์  เพื่อมุ่งเน้นการเสริมสร้างอาชีพและรายได้ให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการแบบยั่งยืน

2.โพรไบโอติก   วว. โดย ศูนย์นวัตกรรมการผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรม (ICPIM) มีการดำเนินงานวิจัยพัฒนาเพื่อนำเชื้อจุลินทรีย์มาใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรม โดยมุ่งเน้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านจุลินทรีย์โพรไบโอติกที่ครบวงจร ประกอบด้วย ห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ ทดสอบจุลินทรีย์โพรไบโอติกมาตรฐาน ISO/IEC 17025, คลังเก็บรักษาสายพันธุ์โพรไบโอติก (Probiotic Bank) ที่เป็นแหล่งรวบรวมและเก็บรักษาจุลินทรีย์โพรไบโอติกประจำถิ่นที่มีศักยภาพ, ห้องปฏิบัติการเฉพาะทางภายใต้มาตรฐานความปลอดภัยทางชีวภาพระดับ 2 (Biosafety Level 2) สำหรับงานวิจัยพัฒนาเพื่อคัดเลือกจุลินทรีย์โพรไบโอติกที่มีศักยภาพกับอุตสาหกรรมอาหารสุขภาพ และอาหารนม และระบบกระบวนการผลิตเชื้อจุลินทรีย์ตามมาตรฐานการผลิตที่ดี (Good  Manufacturing  Practice : GMP) เพื่อการผลิตจุลินทรีย์โพรไบโอติกสำหรับนำไปใช้ในระดับอุตสาหกรรม

3.สารชีวภัณฑ์    เป็นกลุ่มจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ใช้ในทางการเกษตร เพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช ผลิตปุ๋ยชีวภาพ และ ควบคุมแมลง-โรค ศัตรูพืช ช่วยในการลดการใช้สารเคมี สนับสนุนระบบเกษตรปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์

4.ห้องปฏิบัติการทดสอบการสลายตัวทางชีวภาพของวัสดุ   (BioD)  เป็นห้องปฏิบัติการทดสอบฯ ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนกับหน่วยรับรองผลิตภัณฑ์ระดับสากลทั้งในและต่างประเทศ (เยอรมนีและสหรัฐอเมริกา) เพิ่มโอกาสทางการค้าของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมด้านผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า 50 ประเทศทั่วโลก 

5.เห็ดเพื่อชุมชน    วว. วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการเพาะเห็ดมายาวนาน โดยเฉพาะการเพาะเห็ดเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นเห็ดทั่วไปสามารถเพาะได้โดยใช้วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ขี้เลื่อนไม้ยางพารา ฟางข้าว เป็นต้น ซึ่งวิธีการเพาะจะต้องเตรียมก้อนเชื้อเห็ด วว.ได้มีโครงการ อว.สร้างงานโดยรับคนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ Covid-19 ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ ตลอดจนการฝึกปฏิบัติจริงให้แก่บุคคลดังกล่าว  เป็นการสร้างอาชีพในอนาคต

“ เห็ดป่าไมคอร์ไรซา” เป็นหนึ่งในเห็ดหลายชนิดที่ วว. ได้วิจัยพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน เป็นเห็ดที่เจริญในดิน มีความสามารถอยู่ร่วมกับรากพืช ในลักษณะพึ่งพาอาศัยกัน โดยต่างฝ่ายต่างได้รับประโยชน์ มีบนบาทสำคัญในการช่วยให้กล้าไม้เจริญเติมโตและแข็งแรงทนต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม ส่งผลให้การปลูกป่าไม้ประสบความสำเร็จดียิ่งขึ้น และนอกจากนี้ยังสามารถเพาะได้เองในพื้นที่สวนหลังบ้านของตนเองได้ด้วย ในอนาคตก็จะสามารถที่จะทำเห็ดป่านอกฤดูได้ด้วย เป็นการสร้างอาชีพให้แก่เกษตรกร ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน เห็ดป่าที่ วว. วิจัยและพัฒนาอยู่ในขณะนี้ คือ เห็ดเพาะ เห็ดตับเต่า และเห็ดระโงก

6.ลำตะคองโมเดล เมืองน่าอยู่ และฐานข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพ  (PROSEA) นำเสนอฐานข้อมูลความหลากหลายทางด้านชีวภาพ โครงการสำรวจรวบรวมทรัพยากรพืชในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือโครงการ  Prosea นำไปสู่การอนุรักษ์พืชประจำถิ่นในพื้นป่าสะแกราช การปลูกอนุรักษ์นอกถิ่นในพื้นที่สถานีวิจัยลำตะคอง สู่การต่อยอดงานวิจัยการพัฒนาพันธุ์พืชพื้นบ้าน เช่น มะขามเปรี้ยวยักษ์ มะขามป้อม มะเม่า ผักหวานป่า ผักกูดเพื่อส่งเสริมให้ชุมชนสร้างงาน สร้างอาชีพ ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต เพิ่มรายได้   นอกจากนั้นยังมีการนำแมลงมาใช้ประโยชน์ทางด้านการเกษตร โดยใช้ชันโรงช่วยในการผสมเกสรในสวนกาแฟ ทำให้ติดผลดีขึ้น และได้กาแฟที่มีรสชาติจำเพาะ และการเลี้ยงไส้เดือน เพื่อใช้ในการย่อยเศษอาหารจากครัวเรือน ได้เป็นปุ๋ยอินทรีย์

7.Success case นวัตอัตลักษณ์ วว.        มุ่งส่งเสริมและให้ความช่วยเหลือแบบเพื่อนช่วยเพื่อนในชุมชน มีการแบ่งปันอุปกรณ์ แบ่งปันความรู้ โดยประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาดั่งเดิมที่ชุมชนมี แล้วนำมาผสมผสานกับภูมิปัญญาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ที่ วว. ได้สั่งสมองค์ความรู้วิจัยพัฒนาขึ้น โดยมุ่งดำเนินงานเพื่อสร้าง “นวัตอัตลักษณ์” หรือความแตกต่างของผลิตภัณฑ์ในแต่ละชุมชน  เพื่อนำไปสู่การค้าการขาย การสร้างอาชีพสร้างรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืน ภายใต้แนวคิดดำเนินงาน “แชร์ ใช้ ทุกคนได้ประโยชน์”  โดยมุ่งดำเนินงานร่วมกันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากทั้งภาครัฐ ภาคการศึกษา ภาคเอกชน รวมทั้งประชาสังคมในชุมชนที่เกี่ยวข้อง ในรูปแบบ 4 ประสาน (Quadruple Helix) เพื่อทำให้เกิดความยั่งยืนของชุมชน เพิ่มรายได้ ยกระดับชุมชน ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ขับเคลื่อนผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน ให้มีช่องทางเข้าถึง วทน. ที่สามารถตอบโจทย์ผู้ประกอบการเชิงพื้นที่ได้อย่างชัดเจน สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง ตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อนำผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดและค้าขายได้จริง ซึ่งเป็นการพัฒนางาน วทน. อย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม  นอกจากนี้ยังมุ่งสร้างรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนและชุมชนในระดับฐานราก โดย วว. มุ่งเน้นแนวคิดการแปรรูปผลิตผลจากทรัพยากรท้องถิ่นให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ มีจุดเด่นเอกลักษณ์เป็นของตนเองที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมในท้องถิ่น โดยนำนวัตกรรม ปัญญา เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์ เข้าไปมีส่วนสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนในพื้นที่

8.บรรจุภัณฑ์เพื่อการจำหน่ายผลไม้สดออนไลน์    วว. โดย ศูนย์การบรรจุหีบห่อไทย (ศบท.) ประสบผลสำเร็จในการวิจัยและพัฒนา “นวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ผลไม้สด ส่งเสริมการขายออนไลน์”  ได้แก่  1.) นวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ “กล่องเก็บกลิ่นทุเรียน ล็อคกลิ่นได้ 100%”   2.) บรรจุภัณฑ์เพื่อการจำหน่ายมะม่วงออนไลน์  และ 3.) บรรจุภัณฑ์อัจฉริยะบ่งชี้ความปลอดภัยปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในลำไย   เพื่อช่วยเพิ่มมูลค่าผลผลิตการเกษตร เสริมแกร่งผู้ประกอบการไทยทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ  พร้อมตอบโจทย์ผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน รับวิถีชีวิตใหม่  NEW   Normal  จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะภาคการส่งออกและขนส่ง รวมทั้งการบริโภคภายในประเทศ  ทำให้มีผลผลิตทางเกษตรที่มีคุณภาพสูงในประเทศจำนวนมากที่ไม่ได้เก็บเกี่ยวทันเวลา ส่งผลให้เกิดความสูญเสีย เนื่องจากไม่มีตลาดรองรับ จึงมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนในการจัดหาหรือเพิ่มช่องทางจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร

9.Success case การจัดการขยะชุมชนด้วย วทน.  อบต.ตาลเดี่ยว อ.แก่งคอย  จ.สระบุรี     นำเสนอความสำเร็จการดำเนินโครงการต้นแบบในการจัดการขยะชุมชนขนาดเล็กถึงขนาดกลาง  โดยรองรับปริมาณขยะชุมชนไม่เกิน 50 ตันต่อวัน และมุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีจัดการขยะชุมชนตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular  Economy)  เน้นการเพิ่มสัดส่วนการรีไซเคิล เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ในรูปแบบวัตถุดิบรอบสองที่มีคุณภาพ เน้นการใช้ทรัพยากรและพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด มุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้วยเทคโนโลยีไทย อาทิ เทคโนโลยีการดับกลิ่นด้วยระบบโอโซนและสารดูดซับ เทคโนโลยีการคัดแยกชนิดและสีพลาสติกด้วยระบบ NIR ร่วมกับ Vision เทคโนโลยีการผลิตก๊าซชีวภาพและไบโอมีเทนอัดถังเพื่อใช้เป็นพลังงานความร้อน เทคโนโลยีการผลิตปุ๋ยอินทรีย์และสารปรับปรุงดิน และเทคโนโลยีการผลิตเชื้อเพลิงขยะคุณภาพสูงทดแทนถ่านหิน เป็นต้น

10.พลังงานชีวมวล     วว. โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมพลังงานสะอาดและสิ่งแวดล้อม  มีงานวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับด้านพลังงานทดแทนอย่างต่อเนื่อง จนในปี 2557 ได้เริ่มโครงการ “การแก้ไขปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อมและขยะชุมชนโดยเทคโนโลยีสะอาด (Plasma) ในพื้นที่” ในการดำเนินงานโครงการดังกล่าว มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงานทดแทนร่วมกับการแก้ไขปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อมไปด้วย  การดำเนินงานของศูนย์สาธิตการผลิตพลังงานทดแทนจากชีวมวลและขยะ มุ่งเน้นการถ่ายทอดให้ผู้ที่สนใจทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการให้สามารถขยายผลสู่เชิงพาณิชย์ได้จริง และต่อยอดองค์ความรู้และงานวิจัยด้านพลังงานทดแทน เพื่อเพิ่มศักยภาพความเข้มแข็งด้านพลังงานทดแทนของประเทศ ตั้งอยู่ ณ สถานีวิจัยลำตะคอง โดยศูนย์สาธิตฯ ประกอบด้วย 3 เทคโนโลยีหลัก ได้แก่ 1.) ระบบคัดแยกและใช้ประโยชน์จากขยะชุมชนและของเหลือทิ้งทางการเกษตร สามารถรองรับขยะชุมชน ได้ 50 ตัน/วัน และผลิตสารปรับปรุงดิน ได้ 2 ตัน/วัน   2.) ระบบผลิตก๊าซชีวภาพและบำบัดน้ำกลับมาใช้ซ้ำ เป็นเทคโนโลยี 2-stages Anaerobic Baffle Reactor สามารถรองรับขยะอินทรีย์ ได้ 10 ตัน/วัน และเครื่อง generator ที่มีขีดความสามารถในการผลิตกระแสไฟฟ้าอยู่ที่ 200 KW   3.)  ระบบผลิตก๊าซชีวมวลด้วยเทคโนโลยีแก๊สซิฟิเคชัน แบบสามขั้นตอน (3-stage gasification) รองรับวัตถุดิบได้มากสุดที่ 10 ตัน/วัน และเครื่อง generator ที่มีขีดความสามารถในการผลิตกระแสไฟฟ้าอยู่ที่ 200 KW

11.เซรามิก ยางพารา และบล็อกประสาน         วว.  โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมวัสดุ  วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับวัสดุสุขภาพและการแพทย์ การพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับวัสดุพลังงานและสิ่งแวดล้อม   รวมทั้งให้บริการวิเคราะห์ทดสอบสมบัติของวัสดุเซรามิก   แร่  พลาสติก พอลิเมอร์  ยางพารา ทางด้านกายภาพ ทางเคมีและทางกล

12.ไม้ดอก ไม้ประดับ        วว.  และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม  (สสว.) รวมทั้งพันธมิตร  ร่วมดำเนินกิจกรรมพัฒนาคลัสเตอร์ไม้ดอกไม้ประดับ ภายใต้โครงการสนับสนุนเครือข่าย SMEs ปี 2563 ให้แก่ผู้ประกอบการในจังหวัดเลย จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดนครราชสีมา เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยี ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพไม้ดอกไม้ประดับให้แก่ผู้ประกอบการ ช่วยเหลือและสนับสนุนเกษตรกรทั้งในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม รวมไปถึงความร่วมมือจากภาคเอกชน ที่สนับสนุนขับเคลื่อนคลัสเตอร์ไม้ดอกไม้ประดับให้เกิดอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดทั้งในและต่างประเทศ ผลการดำเนินงานร่วมกันสามารถสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการที่ได้รับการพัฒนาและเชื่อมโยงในรูปแบบคลัสเตอร์ จำนวน 30 คลัสเตอร์ มีผู้ประกอบการได้รับการพัฒนาองค์ความรู้ในการดำเนินธุรกิจ 4,246 ราย และสามารถลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจหรือมีการขยายตัวในทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 472.12 ล้านบาท

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. และคณะ ยังได้เยี่ยมชม ศูนย์นวัตกรรมการผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรม (ICPIM)  และศูนย์ทดสอบมาตรฐานระบบขนส่งทางราง  ซึ่งเป็นหน่วยงานกลางของประเทศด้านการทดสอบรับรองคุณภาพระบบขนส่ง ด้านระบบขนส่งที่ครอบคลุมทั้งด้านระบบรางและส่วนเชื่อมต่อกับการขนส่ง เช่น รถไฟขนส่งสินค้า รถไฟฟ้าในเมือง รถบรรทุกสินค้า ยานยนต์ไฟฟ้า ฯลฯ เพื่อสนับสนุนด้านความปลอดภัยในการใช้งานระบบขนส่งทางรางและเสริมขีดความสามารถผู้ประกอบการในการทดแทนการนำเข้าชิ้นส่วนระบบราง นอกจากนี้ยังสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านระบบราง รวมถึงให้การฝึกอบรมและส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องในส่วนวิศวกรรมระบบราง เช่น วิศวกรและนักศึกษา คณาจารย์รวมถึงผู้ประกอบการผลิตชิ้นส่วนรถไฟ

Political News