สำนักข่าวไทยไทม์นิวส์ • ThaitimeNews
loader
Foto

ทีเอ็มบีและธนชาต จัดกิจกรรม FIN TALK by TMB l Thanachart ปลดล็อกชีวิตหนี้...สู่วิถีการเงินใหม่

ทีเอ็มบีและธนชาต จัดกิจกรรม “FIN TALK by TMB I Thanachart ปลดล็อกชีวิตหนี้...สู่วิถีการเงินใหม่” กระตุ้นคนไทยลุกขึ้นมาหาทางแก้หนี้ เพื่อสามารถดำเนินชีวิต พร้อมเติบโตและสร้างชีวิตทางการเงินที่ดีต่อไปได้ โดย “ปิติ ตัณฑเกษม” ซีอีโอทีเอ็มบี ชวนมันนี่โค้ชคนดัง “จักรพงษ์ เมษพันธุ์” และนักจิตบำบัด “ดุจดาว วัฒนปกรณ์” มาร่วมเติมเต็ม ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับพฤติกรรมทางการเงินและปลดล็อกความเข้าใจเรื่องหนี้ แนะเริ่มก้าวแรกในการปลดล็อกหนี้ด้วยการปรึกษากับธนาคารเพื่อหาทางออก พร้อมเดินหน้าในบทบาทของธนาคารที่จะมาสร้างภูมิคุ้มกันและโซลูชันด้านการเงินให้กับคนไทย

จากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยอย่างรุนแรง ทุกอุตสาหกรรม ทุกอาชีพ ต่างได้รับผลกระทบตลอดทั้งห่วงโซ่ธุรกิจ หลายธุรกิจต้องปิดกิจการ ประชาชนจำนวนมากมีรายได้น้อยลง หรือตกงานขาดรายได้ ในขณะที่ตนเองและครอบครัวยังต้องดำเนินชีวิตต่อ และยังมีภาระ “หนี้” ไม่ว่าจะเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนสถานการณ์โควิด-19 หรือหนี้ที่เกิดจากความจำเป็นต้องนำมาใช้ดำเนินชีวิตต่อก็ตาม “ทีเอ็มบีและธนชาต” ผู้นำแนวคิด Make REAL Change ชวนคนไทยลุกขึ้นมาหาทางแก้หนี้ผ่านการหาความรู้เพิ่มเติม กับทอล์กอีเวนต์ “FIN TALK by TMB l Thanachart ปลดล็อกชีวิตหนี้... สู่วิถีการเงินใหม่” ปลุกพลังคนไทย ด้วยคำแนะนำครบทั้ง 3 มิติ เพื่อปลดล็อกชีวิตหนี้ เริ่มจาก (1) ปลดล็อกแนวคิดยามเป็นหนี้ เริ่มจากการจัดระเบียบความคิด เพื่อนำไปสู่ (2) การปลดล็อกพฤติกรรมการแก้หนี้แบบผิดๆ พร้อมด้วยเคล็ดลับเพื่อกลับมาตั้งหลักใหม่ และสิ่งสำคัญคือ (3) การปลดล็อกชีวิตหนี้ด้วยความรู้ทางการเงินกับธนาคารที่จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันและมอบโซลูชันทางการเงินให้กับคนไทย

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบี หรือ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า หนี้ครัวเรือนไทยเติบโตเร็วมาก จนกลายเป็นปัญหาพื้นฐานใหญ่ของประเทศ จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ณ สิ้นเดือนกันยายน 2562 พบคนไทยประมาณ 21 ล้านคนเป็นหนี้ โดยข้อมูลจากศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics พบว่าในปี 2561 หนี้ของคนไทยส่วนใหญ่มีแนวโน้มมาจากการบริโภค (Personal Consumption) สะท้อนจากหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลที่มีสัดส่วนสูงถึง 34% ขณะที่หนี้รถมีสัดส่วน 25% หนี้บ้านมีสัดส่วน 40% และหนี้อื่นๆ อีก 1 % ในขณะที่ต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ และอังกฤษ หนี้ที่เกิดจากการบริโภคมีสัดส่วนไม่ถึง 5% โดยปัญหาหนี้อาจจะเกิดจากความคิดและพฤติกรรมการใช้จ่ายที่เกินตัว ประกอบกับธนาคารเองก็ได้มีการออกผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อสร้างความสะดวกในการใช้จ่ายและช่วยให้ลูกค้าเข้าถึงเงินกู้ได้ง่ายขึ้น

 “จากความตั้งใจในการสร้างความสะดวกสบาย เราก็ได้สร้างโอกาสการเป็นหนี้ให้กับลูกค้าตั้งแต่เดินออกจากรั้วมหาวิทยาลัย ในขณะที่คนส่วนใหญ่ยังขาดความรู้และการวางแผนด้านการเงิน โดยช่วงสถานการณ์โควิด-19 ทำให้คนที่เป็นหนี้และสถาบันการเงินตระหนักถึงปัญหาที่ซ่อนไว้ ซึ่งถูกเร่งออกมาชัดเจนเร็วขึ้น ทำให้เห็นว่างานที่มั่นคงก็ไม่แน่นอน คนที่มีหนี้อยู่แล้วก็เป็นหนี้หนักขึ้น คนที่ยังไม่เคยเป็นหนี้และไม่เคยวางแผนเพื่อจะเป็นหนี้ ก็กลับเป็นหนี้ครั้งแรกในช่วงเวลาที่ขาดรายได้” นายปิติกล่าว

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบี กล่าวต่อว่า “ในช่วงวิกฤตนี้ ทำให้เกิดการกลับมาทบทวนบทบาทของธนาคารที่มีต่อสังคม ถ้าเราเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างปัญหา ก็ต้องเป็นส่วนหนึ่งของการร่วมแก้ปัญหา เพราะธนาคารเป็นส่วนหนึ่งของระบบพื้นฐานเศรษฐกิจและสังคมเกี่ยวข้องกับคนหมู่มากสามารถช่วยเหลือ หรือสร้างผลกระทบให้กับคนไทยทั้งประเทศ มีความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่เป็นเดิมพัน ดังนั้น ธนาคารไม่ได้มีบทบาทเป็นเจ้าหนี้ที่คอยทวงหนี้ แต่ต้องเป็นคลินิกช่วยรักษา ช่วยวินิจฉัยโรค และช่วยจ่ายยาให้กับคนไข้ที่กำลังมีปัญหาหนี้”

ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกนโยบายช่วยเหลือผู้เป็นหนี้ และธนาคารทุกแห่งก็มีเครื่องมือทางการเงินและมาตรการช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง ดังนั้น คนที่กำลังเป็นหนี้อย่าเพิ่งสิ้นหวัง ทุกอย่างมีทางออกเสมอ ซึ่งจุดเริ่มต้นที่ดีคือ การเข้าไปปรึกษาธนาคารของท่าน และสร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเองผ่านความรู้เรื่องการวางแผนทางการเงิน ทั้งนี้ ทีเอ็มบีและธนชาต ให้ความสำคัญกับการสร้างความรู้ให้กับลูกค้า ให้รู้จักและเข้าใจเครื่องมือทางการเงินอย่างถูกต้อง เพื่อสามารถเลือกใช้ประเภทสินเชื่อได้อย่างเหมาะสมและถูกวัตถุประสงค์ เน้นการให้คำปรึกษาผ่านผู้เชี่ยวชาญ (Debt Advisory) พร้อมนำเสนอทางเลือกต่างๆ เช่น การทำ Debt Consolidation เพื่อให้ลูกค้าสามารถรวมภาระหนี้ที่มีจากหลายๆ บัญชีสินเชื่อให้เหลือหนี้เพียงบัญชีเดียว โดยลูกค้าจะได้รับประโยชน์จากการขยายระยะเวลาในการผ่อนชำระตามสินเชื่อมีหลักประกัน ทำให้ช่วยปรับลดภาระการผ่อนโดยรวมลง ซึ่งปัจจุบัน ทีเอ็มบีและธนชาตมีโซลูชันที่ลูกค้าสามารถนำมาใช้ตามคอนเซปต์ การรวมหนี้ ได้แก่ สินเชื่อทีเอ็มบี บ้านแลกเงิน และสินเชื่อธนชาตไดรฟ์ รถแลกเงิน ที่จะช่วยลดดอกเบี้ย ลดค่างวด และเสริมสภาพคล่องให้กับลูกค้าได้

 “ทีเอ็มบีและธนชาตต้องการที่จะปลดล็อกบทบาทใหม่ของธนาคาร เพื่อที่จะช่วยสร้างชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้น (Financial Well-being) ให้คนไทยทั้งประเทศ เราอยากเป็นเหมือนคู่ชีวิตของลูกค้า เมื่อมาอยู่ด้วยกันแล้วชีวิตของลูกค้าจะต้องดีขึ้นในระยะยาว มีสุขภาพการเงินที่ดีไปด้วยกัน นี่คือความหมายของการเป็น Sustainable Banking คือ การเติบโตไปพร้อมๆ กับลูกค้าของเราในระยะยาวและเพื่อช่วยให้ลูกค้ามีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้น” นายปิติกล่าว

ด้านนางสาวดุจดาว วัฒนปกรณ์ นักจิตบำบัด กล่าวว่า ปี 2563 เป็นปีแห่งความน่ากลัว เริ่มต้นจากความกลัวการแพร่ระบาดของโควิด-19 แม้ประเทศไทยสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้แล้ว แต่ความกลัวไม่ได้หายไป เพราะอีกหนึ่งความน่ากลัวที่กำลังเผชิญคือ เรื่องเศรษฐกิจ ซึ่งสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ออกรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 1 ปี 2563 ระบุว่า แรงงานมีความเสี่ยงถูกเลิกจ้างทั้งสิ้น 8.4 ล้านคน

โดยคาดว่าในปีนี้อัตราการว่างงานจะอยู่ที่ประมาณ 3-4 % หรือราว 2 ล้านคน ทำให้คนกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงในการทำงานและรายได้ที่อาจจะหายไป โดยเฉพาะคนที่เป็น “หนี้” จะเป็นกลุ่มคนที่กลัวอนาคตมากที่สุด ส่งผลให้ภาวะจิตใจย่ำแย่ มีความคิดลบจนอยู่ในภาวะที่มองไม่เห็นทางออกและไม่มีแรงที่จะลุกขึ้นมาแก้ปัญหา แต่จริงๆ แล้วทุกคนสามารถปรับให้สมองพร้อมที่จะแก้ปัญหาได้ และอยากให้เชื่อว่าทุกอย่างมีทางออก ซึ่งการปลดล็อกแนวคิดยามเป็นหนี้ต้องเริ่มจากการจัดระเบียบความคิดใหม่แล้วหาทางออก โดยเปิดใจเรียนรู้และยอมรับความช่วยเหลือจากคนอื่น เช่น ธนาคาร หรือ ผู้ที่มีความรู้ทางด้านการเงิน เป็นต้น

ขณะที่นายจักรพงษ์ เมษพันธุ์ มันนี่โค้ชคนดัง กล่าวว่า คนไทยจำนวนไม่น้อยมีพฤติกรรมแก้หนี้อย่างไม่ถูกต้อง เช่น พยายามแก้ปัญหาเอง ไม่กล้าขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ ทำให้ติดกับดักการเป็นหนี้แบบไม่มีวันจบ ดังนั้น การปลดล็อกต้องหันกลับมาหาจุดตั้งหลักด้วยการปรับและเปลี่ยนพฤติกรรม เริ่มต้นก้าวแรกด้วยการเดินไปคุยกับคู่สัญญา หรือธนาคาร เพื่อประเมินสถานการณ์และหาทางออกร่วมกัน สำหรับการปรับพฤติกรรมเพื่อกลับมาตั้งหลักใหม่ อาทิ การเพิ่มรายรับนำเอาทักษะของตัวเองมาใช้หารายได้ การลดรายจ่าย โดยเฉพาะรายจ่ายหนี้ ต้องหาแนวทางลดค่าใช้จ่ายหนี้ตรงนี้ในแต่ละเดือน และเลือกใช้เวลา นั่นคือใช้เวลาในการโฟกัสการแก้ปัญหา ไม่ต้องรอเวลาในการแก้หนี้ รวมทั้งใช้เวลาในการหันหน้าคุยกับธนาคารเพื่อเจรจา หรือขอคำปรึกษา

ทีเอ็มบีและธนชาต ผู้นำแนวคิด Make REAL Change พร้อมเป็นธนาคารที่ช่วยคิด ช่วยให้ความรู้ และเครื่องมือ การวางแผนการเงิน เพื่อชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นของคนไทย ผ่านกิจกรรม “FIN TALK” หรือทอล์กอีเวนต์ที่จะมาเติมเต็มความรู้และความเข้าใจทางการเงินและการบริหารจัดการหนี้ให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายในการสร้างชีวิตทางการเงิน หรือ Financial Well-being ที่ดีขึ้นให้กับคนไทยทั้งประเทศ

Political News