สำนักข่าวไทยไทม์นิวส์ • ThaitimeNews
loader
Foto

ซิตี้แบงก์มองเศรษฐกิจโลกปี63หดตัวติดลบ3.5%ก่อนฟื้นตัวกลับมาเป็นบวก5.5%ในปี64

  • -อัตราเติบโตของผลกำไรเฉลี่ยของบริษัทในตลาดเกิดใหม่ ชะลอตัวลงเล็กน้อย -1.5% และจะปรับตัวขึ้น 6.4% ในปี 64 ด้านตลาดพัฒนาแล้ว มีแนวโน้มชะลอตัวถึง -5% และดีดกลับเป็น 4.8% ในปี 64
  • -นักวิเคราะห์ซิตี้ เผยเทรนด์ลงทุนช่วงครึ่งหลังปี ’63 เน้นหุ้นวัฏจักรกลุ่มสุขภาพ – เทคโนโลยี พร้อมทั้งกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย เพื่อลดความเสี่ยงของพอร์ทโฟลิโอในช่วงสภาวะตลาดผันผวน

ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย เผยผลการวิเคราะห์เศรษฐกิจโลกครึ่งหลังปี 2563 คาดการณ์เศรษฐกิจโลกติดลบ 3.5% ก่อนที่ตลาดโลกจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว 5.5% ในปี 2564 ขณะที่ระดับอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 1.8% โดยได้รับผลกระทบจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น ความไม่แน่นอนของสถานการณ์โลก เช่น การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ความไม่แน่นอนด้านภูมิศาสตร์การเมือง รวมถึงปัจจัยทางเศรษฐกิจโลกที่ผันผวนตลอดปีที่ผ่านมา ในขณะที่ภาพรวมตลาดการลงทุนยังคงประสบความท้าทายสูง อย่างไรก็ดีนักวิเคราะห์ซิตี้ยังคงมีมุมมองบวกต่อหุ้นวัฎจักรที่คาดว่าจะมีการเติบโตต่อเนื่อง แนะนักลงทุนให้น้ำหนักในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยี สุขภาพและเทคโนโลยีดิจิทัลไลเซชั่น รวมถึงพันธบัตรสหรัฐอเมริกา สกุลเงินเยน และการลงทุนในทองคำ เนื่องจากเป็นสินทรัพย์ที่มีความมั่นคงปลอดภัยและมีความเสี่ยงต่ำ ซึ่งจะสามารถช่วยเสริมความมั่นคงให้กับพอร์ตการลงทุน พร้อมแนะให้เฝ้าติดตามประเด็นสำคัญของสถานการณ์โลกที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาผลประโยชน์ในระยะยาวลดความเสี่ยงจากการลงทุนท่ามกลางสภาวะผันผวน

ทั้งนี้ ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย ได้จัดงานทางออนไลน์  “2020 Mid-Year Annual Outlook” แถลงข้อมูลทิศทางเศรษฐกิจและการลงทุนครึ่งหลังปี 2563 เมื่อเร็ว ๆ นี้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย หรือ www.citibank.co.th 

นายบุญนิเศรษฐ์ ธัญวรอนันต์ ที่ปรึกษาทางการลงทุน ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย กล่าวว่า นักวิเคราะห์ซิตี้คาดการณ์เศรษฐกิจทั่วโลกในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 ติดลบ 3.5% ก่อนที่ตลาดโลกจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว 5.5% ในปี 2564 ในขณะที่ระดับอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 1.8% และเพิ่มขึ้นเป็น 2.4% ในปี 2564 จากปัจจัยแนวโน้มความไม่แน่นอนของสถานการณ์โลก เช่น การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ความไม่แน่นอนด้านภูมิศาสตร์การเมืองที่ยังคงตึงเครียด สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ - จีน รวมถึงปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ผันผวนตลอดปีที่ผ่านมา ในขณะที่เศรษฐกิจระดับภูมิภาคคาดว่ากลุ่มตลาดเกิดใหม่ชะลอตัวลงเล็กน้อย -1.5% และคาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวขึ้น 6.4% ในปี 2564 ในทางกลับกันด้านตลาดพัฒนาแล้วมีแนวโน้มการเติบโตชะลอตัว -5% ในปีนี้จากผลกระทบของโควิด-19 ตลอดจนความขัดแย้งทางการค้าระหว่างประเทศ ส่งผลให้การลงทุนมีความความท้าทายสูง ถึงแม้ว่าตลาดทุนทั่วโลกกลับตัวบวก 40.6% จากจุดต่ำสุดในเดือนมีนาคม แต่ก็ยังติดลบ 4% เมื่อเทียบกับต้นปี (ข้อมูลเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2563 - วันที่ 23 มิถุนายน 2563)

นายบุญนิเศรษฐ์ กล่าวเพิ่มเติม ทั้งนี้นักวิเคราะห์ซิตี้คาดว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในปีนี้อาจทำให้ระบบเศรษฐกิจทั่วโลกถดถอยอย่างหนัก แต่ระบบเศรษฐกิจทั่วโลกจะเริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้งหลังจากมาตรการคลายล็อคดาวน์ของหลายประเทศและการที่สามารถเริ่มควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้ และโดยเฉพาะหากมีการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคได้สำเร็จ โดยจีดีพีของสหรัฐอเมริกาในปีนี้คาดว่าจะหดตัว 3.3% แต่เริ่มเห็นสัญญาณเชิงบวกของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอีกครั้ง จากอัตราการว่างงานที่ลดลง รวมถึงยอดค้าปลีกที่เพิ่มขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ได้ออกมาตรการผ่อนคลายทางการเงินและคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายระดับ 0% - 0.25% รวมทั้งรัฐบาลสหรัฐมีแผนอัดฉีดเงินมูลค่ามากกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อกระตุ้นระบบเศรษฐกิจของประเทศ

ส่วนยุโรปคาดว่าจีดีพีจะลดลง 6.7% สืบเนื่องมาจากการมาตรการข้อจำกัดต่าง ๆ ที่ออกมา โดยแนวโน้มการฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังอาจจะต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 2 ปี กว่าจีดีพีจะกลับไปสู่ระดับเดิมเทียบเท่าช่วงไตรมาส 4 ปี 62 ทำให้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ออกมาตรการผ่อนคลายทางการเงินและมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับต่ำกว่า 0% ต่อเนื่อง ล่าสุดเปิดโครงการซื้อพันธบัตรฉุกเฉินเป็นวงเงินสูงถึง 7.5 แสนล้านยูโร ตลอดจนคณะกรรมาธิการยุโรปเตรียมเสนองบประมาณการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งมีวงเงินสูงถึง 1.1 ล้านล้านยูโร สำหรับช่วง 7 ปีข้างหน้า เพื่อช่วยเหลือและปกป้องเศรษฐกิจของยุโรปที่เกิดจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

ในขณะที่คาดการณ์เศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียในปีนี้จะโต 0.5% โดยเฉพาะประเทศจีนที่อาจโตแตะ 2.4% เนื่องจากความต้องการภายในประเทศที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งเห็นได้จากประเทศจีนที่แม้เป็นประเทศแรกที่เผชิญหน้ากับไวรัส แต่ก็เริ่มเห็นการกลับมาทำกิจกรรมในประเทศที่เพิ่มขึ้นตามลำดับ โดยไตรมาส 1 น่าจะเป็นจุดต่ำสุดของการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ขณะที่ด้านเศรษฐกิจอื่น ๆ พบว่าช่วงไตรมาส 2 ส่วนใหญ่ยังคงเห็นการถดถอยอยู่ก่อนที่จะมีการค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้น อย่างไรก็ตามเมื่อเศรษฐกิจโลกเริ่มกลับมามีการฟื้นตัวใหม่อีกครั้ง แนวโน้มจะเป็นการฟื้นตัวแบบไม่เท่ากันในแต่ละภูมิภาค

ด้านน้ำมันยังคงเป็นที่น่าจับตา โดยน้ำมันดิบยังมีอุปสงค์สวนทางกับอุปทานจึงคาดว่าจะส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบเบรนท์และน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 42 และ 38 ดอลลาร์สหรัฐต่อบารร์เรลตามลำดับ ส่วนทองคำยังเป็นที่ต้องการของตลาด โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 1,600 -1,800 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ และมีแนวโน้มว่ามูลค่าเฉลี่ยจะขยับขึ้นในระดับประมาณ 2,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ในปี 2564

ส่วนค่าเงินต้องจับตาเป็นพิเศษเพราะยังคงมีความผันผวนสูง โดยเฉพาะค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีนี้คาดยังมีแนวโน้มอ่อนค่าลงในระยะกลางถึงระยะยาวจากปัจจัยการขยายงบดุลของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เพื่อตอบสนองสภาพคล่องต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ส่วนกรอบความเคลื่อนไหวเงินบาทไทยคาดว่าจะอยู่ระหว่าง 31.0 – 31.3 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ในขณะที่ นักวิเคราะห์ซิตี้ ยังคงมีมุมมองบวกต่อหุ้นวัฎจักรที่คาดว่าจะมีการเติบโตต่อเนื่อง พร้อมแนะนักลงทุนให้น้ำหนักในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ภูมิภาคเอเชียและกระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์ที่หลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยี สุขภาพ กลุ่มโทรคมนาคมและเทคโนโลยีดิจิทัลไลเซชั่น (Digitalization) รวมถึงพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกา สกุลเงินเยน ตลอดจนการลงทุนในทองคำ เนื่องจากเป็นสินทรัพย์ที่มีความมั่นคงปลอดภัยและมีความเสี่ยงต่ำ ซึ่งจะสามารถช่วยเสริมความมั่นคงให้กับพอร์ทโฟลิโอการลงทุน พร้อมกันนี้แนะให้เฝ้าติดตามประเด็นสำคัญของสถานการณ์โลกที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาผลประโยชน์ในระยะยาวและลดความเสี่ยงจากการลงทุนท่ามกลางสภาวะผันผวน นายบุญนิเศรษฐ์ กล่าวสรุป

นายดอน จรรย์ศุภรินทร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายบุคคลธนกิจ ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทยกล่าวว่า ซิตี้แบงก์ได้มีการพัฒนาธุรกิจการบริหารความมั่งคั่งอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของกลุ่มลูกค้าระดับบนอย่างครบวงจรมากยิ่งขึ้น โดยวางกลยุทธ์การขยายฐานลูกค้าระดับบนและการพัฒนาการให้บริการด้านการบริหารความมั่งคั่งแบบครบวงจรสำหรับกลุ่มลูกค้าดังกล่าวผ่านกลยุทธ์ต่าง ๆ ล่าสุดร่วมกับพาร์ทเนอร์ UBS และ JP Morgan นำเสนอกองทุนรวมชั้นนำของโลกเพื่อเพิ่มทางเลือกการกระจายความหลากหลายการลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถกระจายการลงทุนได้ในสินทรัพย์ที่มีศักยภาพ ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ได้แก่ กองทุน UBS China A Opportunity fund, UBS China Opportunity fund, JP Morgan China Pioneer fund, JP Morgan US Technology fund

นอกจากนี้ ธนาคารฯ ยังมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการดิจิทัลแบงก์กิ้งอย่างต่อเนื่อง เพื่อประสบการณ์การลงทุนที่ดีที่สุดสำหรับลูกค้าและตอบสนองความต้องการของลูกค้าในสถานการณ์ช่วงนี้ที่ลูกค้าอาจจะไม่สะดวกในการเดินทางมาที่สาขาได้เช่นเคย อาทิเช่น พัฒนาฟีเจอร์ Authorization corner หรือ เอกสารการทำธุรกรรมในซิตี้โมบายล์แอปและซิตี้แบงก์ออนไลน์ เพิ่มเติมจากได้เปิดตัวไปในปีที่แล้ว ที่ให้ลูกค้าสามารถยืนยันรายการซื้อขายกองทุนและตราสารหนี้ได้ง่าย ๆ สะดวก รวดเร็ว หลังจากที่ลูกค้าสนทนาแจ้งความต้องการการลงทุนกับผู้ดูแลบัญชีส่วนตัวและเลือกผลิตภัณฑ์ที่ให้ลูกค้าสามารถยืนยันการทำธุรกรรมการลงทุน โดยฟีเจอร์นี้ได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี ในปีนี้ทางธนาคารฯ ก็ได้มีการขยายบริการการยืนยันการธุรกรรมให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น โดยเพิ่มเติมบริการในการเปิดบัญชีเงินฝากและการทำธุรกรรมการโอนเงินผ่าน Authorization corner อีกด้วย รวมถึงในอนาคตเราก็มีแผนจะขยายการใช้งานของฟีเจอร์นี้ไปถึงเอกสารประเภทอื่น ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้ามากยิ่งขึ้นไปอีก

ทั้งการแลกเงินและโอนเงินไปต่างประเทศเป็นเรื่องง่ายกับซิตี้แบงก์ ลูกค้าสามารถโอนเงินไปยังบัญชีธนาคารซิตี้แบงก์ได้ทั่วโลกผ่านช่องทางออนไลน์ โดยปลายทางได้รับเงินทันทีและไม่เสียค่าใช้จ่าย และเมื่อเร็วๆ นี้เราได้พัฒนาบริการโอนเงินไปต่างประเทศแบบผ่าน Swift ให้ครอบคลุมถึง 38 สกุลเงิน ซึ่งทำให้ลูกค้าสามารถรู้อัตราแลกเปลี่ยนและจำนวนเงินโอนในสกุลท้องถิ่นที่แน่นอนได้ทันที นอกจากนี้ เรามีบริการซิตี้แบงก์ โกลบอล วอลเล็ท ช่วยอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าสามารถใช้จ่ายจากบัญชีสกุลเงินต่างประเทศได้โดยตรงผ่านบัตรซิตี้แบงก์ เดบิต มาสเตอร์การ์ด ไม่ว่าจะเป็นการใช้จ่ายออนไลน์หรือในต่างประเทศ โดยไม่เสียค่าธรรมเนียมการแลกเปลี่ยนเงินเพิ่มเติม ซึ่งลูกค้าสามารถแลกเงินไว้เพื่อใช้จ่ายได้มากถึง 8 สกุลเงินผ่านซิตี้โมบายล์แอป โดยไม่เสียค่าธรรมเนียมเช่นกัน

ธนาคารฯ ยังได้มีการปรับเปลี่ยนสิทธิพิเศษที่มอบให้กับกลุ่มลูกค้าที่เปิดบัญชีตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2563 และลูกค้าปัจจุบันที่ยืนยันตอบรับเอกสิทธิ์ใหม่ผ่านทาง SMS ภายในวันที่  31 พฤษภาคม 2563 เพื่อให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และลูกค้ายังคงสามารถใช้สิทธิพิเศษที่ทางธนาคารฯมอบให้ได้อย่างต่อเนื่อง อาทิเช่น เครดิตสำหรับการสั่งอาหารส่งตรงถึงบ้านจากร้านอาหารชื่อดังระดับมิชลินสูงสุด 30,000 บาท/ปี เอกสิทธิ์สำหรับลูกค้าซิตี้โกลด์ อีลีท ที่มีเงินฝากและ/หรือเงินลงทุนกับธนาคารฯ ตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไป เครดิตเงินคืนจากการชำระค่าบริการผ่าน Grab แอปพลิเคชันในประเทศไทยสูงสุด 1,500 บาท/เดือน และเครดิตเงินคืนสำหรับการใช้จ่ายที่ร้านสตาร์บัคส์ ประเทศไทย สูงสุด 500 บาท/เดือน เป็นต้น นายดอน กล่าวสรุป

                ทั้งนี้ ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย ได้จัดสัมมนาออนไลน์ “2020 Mid-Year Annual Outlook” แถลงข้อมูลทิศทางเศรษฐกิจและการลงทุนครึ่งหลังปี 2563 เมื่อเร็ว ๆ นี้ สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย หรือ www.citibank.co.th

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“ซิตี้แบงก์”ชี้ภาคธุรกิจต้องการดิจิทัลโซลูชันด้านการเงิน-การค้า เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่

“ซิตี้แบงก์”ประกาศแต่งตั้ง นฤมล จิวังกูร ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ ซิตี้แบงก์ประเทศไทย

ซิตี้แบงก์ ฉลองครบรอบ 21 ปี บัตรเครดิตซิตี้ รอยัล ออร์คิด พลัส จัดเต็มดีลสุดปัง

ซิตี้แบงก์ จับมือ การบินไทย และไทยสมายล์ ส่งแคมเปญ Happy Vacay ชวนพักร้อนออกเดินทางกันให้แฮปปี้

บัตรเครดิตซิตี้ ส่งโปรครบครันจัดเต็มทั้งกิน ดื่ม ช้อป สำหรับนักเดินทาง

บัตรเครดิต ซิตี้ เมอร์เซเดส ร่วมฉลอง 3 ปี ส่งแคมเปญมูลค่ารวมกว่า 2 ล้านให้แก่สมาชิกบัตร ตั้งแต่ 1 ก.ค.-30 ก.ย. 65

Political News