สำนักข่าวไทยไทม์นิวส์ • ThaitimeNews
loader
Foto

NIA ยกระดับภาครัฐ–เอกชนเปลี่ยนผ่านสู่“องค์กรนวัตกรรม”

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ร่วมขับเคลื่อนโครงการเปิดเมือง ปลอดภัย ชี้ Work from Home เป็นจุดเปลี่ยนเพื่อพัฒนาสู่ “องค์กรนวัตกรรม” ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน พร้อมเผยผลสำรวจประชากรเน็ตกว่า 60% ไม่แฮปปี้กับ Work from Home คาดน่าจะต้องใช้วิธีผสมผสานร่วมกับการทำงานแบบปกติ เปิดเทรนด์นวัตกรรมชีวิตวิถีใหม่ใน 3 มิติ “เศรษฐกิจไร้สัมผัส–สร้างสังคมแห่งความเชื่อถือ–ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวในงานสัมมนาออนไลน์ “โครงการเปิดเมือง ปลอดภัย ร่วมฝ่าวิกฤตโควิด–19 รับมือมาตรการผ่อนปรน ระยะที่ 3” ในประเด็น “Work from Home อย่างไร ให้ได้ทั้งประสิทธิภาพและประสิทธิผล” ว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด–19) สร้างกระแสให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในหลากหลายมิติ หนึ่งในนั้นคือ “การทำงานที่บ้าน” (Work from Home) ที่กลายเป็นปรากฏการณ์รูปแบบใหม่ของการทำงาน และอาจเป็นชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) ของหน่วยงานหลายแห่งทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งถือเป็นโอกาสสำคัญในการพัฒนาองค์กรสู่การเป็น “องค์กรนวัตกรรม”(Innovative Organization) อย่างเป็นรูปธรรม เห็นได้จากการปรับตัวของบุคลากรในการทำงานผ่านเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพิ่มมากขึ้น เช่น ระบบการประชุมทางไกลผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ และระบบการบริหารจัดการโครงการ เป็นต้น

จากผลสำรวจพนักงาน NIA จำนวนกว่า 100 คน พบว่าพนักงานส่วนใหญ่พึงพอใจการ Work from Home เนื่องจากตอบโจทย์ชีวิตวิถีใหม่ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำงานและบริหารจัดการ ในขณะที่ผลการสำรวจประชากรเน็ตผ่านทวิตเตอร์ (Twitter) จากกลุ่มตัวอย่างประมาณ 4,000 คน พบว่าพนักงานกว่า 60% ไม่ชอบการ Work from Home โดยมีปัจจัยหลักจากลักษณะงานที่ต้องพบปะหรือปฏิสัมพันธ์กับผู้คนหรือต้องให้บริการโดยตรง ดังนั้น การ  Work from Home จึงควรที่จะนำมาใช้ผสมผสานร่วมกับการทำงานปกติ เพราะไม่สามารถแทนที่การทำงานปกติได้แบบ 100% โดยปัจจัยหลักขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการและลักษณะการดำเนินธุรกิจ ซึ่ง NIA มองว่าการ Work from Home จะครอบคลุมถึง “การทำงานได้ในทุกสถานที่” (Work from Anywhere) ในอนาคต หากมีระบบรองรับที่มีศักยภาพเพียงพอ ซึ่งความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงาน ไม่สามารถพิจารณาเรื่องการ Work from Home เพียงอย่างเดียว แต่ต้องพิจารณาถึงแนวคิดและแนวทางบริหารจัดการเพื่อทำให้เกิดการ Work from Home ที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

ดร.พันธุ์อาจ กล่าวเพิ่มเติมว่า วิกฤตโควิด–19 ทำให้เกิดนวัตกรรมที่มีบทบาทสำหรับการทำธุรกิจในชีวิตวิถีใหม่ (New  Normal)  ใน 3 มิติ มิติแรกคือ เศรษฐกิจไร้สัมผัส (Touchless Economy) จากการที่ผู้คนไม่อยากสัมผัสสิ่งของสาธารณะและเป็นตัวเร่งให้เกิดสังคมไร้เงินสด (Cashless Society) ระบบการจ่ายเงินผ่านอิเล็กทรอนิกส์ (e–Payment) เพิ่มขึ้น มีการใช้นวัตกรรมในกลุ่มธุรกิจการชำระเงินออนไลน์และระบบจัดส่งสินค้ามากขึ้น มิติที่ 2 คือ สังคมแห่งความเชื่อถือ (Trust Society) เป็นเรื่องของนวัตกรรมที่จับต้องไม่ได้ แต่ต้องมีมาตรฐานเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในสินค้าหรือบริการที่ซื้อผ่านระบบออนไลน์

สำหรับในมิติที่ 3 เป็นมิติความครอบคลุมโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (Inclusiveness) ซึ่งจะเป็นนวัตกรรมทางสังคมและบริการสาธารณะเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ด้วยการสร้างสะพานเชื่อมระบบดิจิทัลไปยังกลุ่มเปราะบางที่ไม่มีโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล โดยความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และผู้นำชุมชน เช่น แพลตฟอร์มระบบสุขภาพทางไกล TeleHealth ของผู้ประกอบการสตาร์ทอัพไทยที่พัฒนาขึ้นสำหรับการจัดส่งยาและเวชภัณฑ์เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยที่ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปโรงพยาบาลซึ่งนอกจากจะช่วยป้องกันการติดเชื้อแล้ว ยังช่วยลดภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ได้อีกด้วย โดย อปท. จะมีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงกลุ่มเปราะบางให้เข้าถึงนวัตกรรมต่างๆ ทางสังคมได้อย่างทั่วถึง

Political News