สำนักข่าวไทยไทม์นิวส์ • ThaitimeNews
loader
Foto

อว.ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสร้างความเข้มแข็งจากภายในเชื่อมโยงประชาคมโลก

ที่สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) ถ.ศรีอยุธยา กรุงเทพฯ - ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เดินทางมาตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยมี ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และคณะผู้บริหารกระทรวง ให้การต้อนรับ พร้อมนำเสนอการใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสร้างความเข้มเข็งของประเทศ

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ใช้ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เป็นฐานในการเพิ่มมูลค่าให้กับความหลากหลายทางชีวภาพ และความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่เป็นจุดแข็งและทุนพื้นฐานสำคัญของประเทศ พัฒนาเศรษฐกิจฐานนวัตกรรมเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ต่อยอดมูลค่าเพิ่ม สร้างความเข้มแข็งจากภายในเชื่อมโยงไทยสู่ประชาคมโลก

การพัฒนาเศรษฐกิจตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มุ่งเน้นให้เกิดบูรณาการการพัฒนาในทุกมิติ นำไปสู่การเดินหน้าไปด้วยกัน และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่เน้นการขับเคลื่อนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับพื้นที่ ระดับประเทศ และระดับโลก ครอบคลุม 4 สาขายุทธศาสตร์สำคัญ ประกอบไปด้วย 1) เกษตรและอาหาร 2) สุขภาพและการแพทย์ 3) พลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ และ 4) การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์

ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลได้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสำคัญซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการต่อยอดการพัฒนาเศรษฐกิจหลังโควิด-19 อาทิ ธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ (National Biobank)  เพื่อการเก็บ รักษาและใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพ เช่น การจัดเก็บพันธุ์พืช จุลินทรีย์ เพื่อการพัฒนาพันธุ์ และใช้ประโยชน์, ศูนย์จีโนมิกส์ประเทศไทย (Genomics Thailand) ศึกษาข้อมูลจีโนมของคนไทยเพื่อการป้องกัน การรักษา การวางแผนระบบสาธารณสุข และการแพทย์แม่นยำ, อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค (Regional Science) สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานนวัตกรรมของภูมิภาค, ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อการแก้ปัญหาความยากจน ยกระดับการผลิตภาคเกษตรแบบมุ่งเป้า ข้อมูลน้ำ และข้อมูลจากดาวเทียม และโรงงานต้นแบบไบโอรีไฟเนอรี (Bio-refinery  Pilot Plant) เพื่อการขยายขนาดการผลิตจากระดับห้องปฏิบัติการสู่การผลิตระดับอุตสาหกรรม (Waste to Wealth) ผลสำรวจความต้องการกำลังคนระดับสูงเพื่อรองรับยุทธ์ศาสตร์ดังกล่าว พบว่ามีความต้องการกำลังคนในสาขาต่าง ๆ จำนวนมากถึง 1.45 แสนคน ประกอบด้วย เกษตรและอาหาร 7.4 หมื่นคน สุขภาพและการแพทย์ 2 หมื่นคน พลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ 1 หมื่นคน และการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ 4.1 หมื่นคน

โครงการเร่งรัด (Quick Win) ในขับเคลื่อนการพัฒนา อาทิ การพัฒนาเกษตรกรสู่ Smart Farmers, การยกระดับอาหารริมทาง (Street Food) ให้มีมาตรฐาน ความปลอดภัย ถูกสุขลักษณะ และมีอัตลักษณ์ เชื่อมโยงการท่องเที่ยว, โครงการพัฒนาอาหารสุขภาพนำร่องด้วยนวัตกรรมจากยีสต์, Technology Localization เพื่อสร้างห่วงโซ่การผลิตเครื่องมือแพทย์ในประเทศ เช่น เครื่องเอกซเรย์ดิจิทัล ข้อเข่าเทียม ขดลวดหลอดเลือดหัวใจ น้ำยาและเครื่องล้างไตอัตโนมัติ, การสร้าง Thailand Genomic Databank และโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการบริการทางการแพทย์แม่นยำ, ส่งเสริม Medical Hub การพัฒนาวัคซีนโควิดเพื่อความมั่นคงทางสุขภาพ  การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการรักษาและดูแลสุขภาพ (Medical & Wellness Hub) ของเอเชีย, การประกาศใช้ Carbon Pricing และ Green Tax เพื่อสร้างตลาดและสนับสนุนผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการจัดการของเสียเป็นศูนย์ (Zero Waste) และการสร้างมูลค่าจากของเสีย (Waste to Value)

การพัฒนานี้จะสร้างโอกาสของประเทศไทยในเวทีโลก 5 ด้าน ประกอบไปด้วย

  1. Hygienic Kitchen of the World: ความมั่นคงด้านอาหาร โภชนาการระดับประเทศและโลกในทุกสถานการณ์
  2. High Value-Added Products from Innovation and Creativity: ความมั่นคงจากการเพิ่มมูลค่าภาคการผลิตและบริการด้วยนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์
  3. Healthy People: ความสามารถในการพึ่งตนเองด้านสุขภาพ
  4. Happy Destination: พัฒนาการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ที่เน้นความปลอดภัย ยั่งยืน กระจายรายได้สู่ชุมชน
  5. Harmonious and Sustainable Society: การพัฒนาที่สมดุล

Political News