สำนักข่าวไทยไทม์นิวส์ • ThaitimeNews
loader
Foto

เปลี่ยนมุมมอง สู่การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นผู้ชนะ และนวัตกรรมช่วยพัฒนาโลกจากความท้าทายของดาราศาสตร์

TEDxChulalongkornU (เท็ดเอ็กซ์จุฬาลงกรณ์ยู) หนึ่งในงานทอล์คสร้างแรงบันดาลใจระดับโลก โดยคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 3 ภายใต้แนวคิด  “Strive Forward : The World is Changing, Are You?” (สไตร์ฟ ฟอร์เวิร์ด : เดอะ เวิลด์ อิส เชนจิ้ง, อาร์ ยู?) โดยเชิญ 14 สปีคเกอร์มาร่วมสร้างสรรค์แรงบันดาลใจ  ณ โรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศ ชั้น 7 สยามสแควร์    โดย  1 ใน 14 สปีคเกอร์ สมโภชน์  อาหุนัย  หัวเรือใหญ่บริษัทผู้นำด้านพลังงานทดแทน ชวนให้เปลี่ยนมุมมองกำหนดชีวิตนำพาประเทศไทยให้เป็นผู้ชนะ ในขณะที่ ดร.วิภู  รุโจปการ  นักดาราศาสตร์ฟิสิกส์ไทยย้ำการแก้โจทย์ปัญหาที่ยากของดาราศาสตร์จะนำไปสู่การเกิดนวัตกรรมที่ช่วยพัฒนาโลก

 โดยประธานคณะกรรมการบริหาร บมจ. พลังงานบริสุทธิ์ สมโภชน์  อาหุนัย  กล่าวในหัวข้อ “สมการแห่งอนาคต” ว่า “ผมมั่นใจว่า เทคโนโลยีในประเทศไทยเราไปไกลได้มากกว่าที่คิด ผมเริ่มต่อยอดขึ้นไปจากสิ่งที่ผมทำ  เปลี่ยนปาล์มให้เป็นสิ่งที่มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น  จากแบตเตอรี่ที่เป็นพลังงานทดแทนเป็นพลังงานหลักของประเทศ อย่างปาล์มที่เรานำมาผลิตไบโอดีเซลและกลีเซอรีนบริสุทธิ์ และปัจจุบันเราสามารถผลิตสารที่เรียกว่า PCM หรือ Phase Change Material (เฟส เชนจ์ แมททีเรียล) หรือที่เรียกในภาษาไทยว่า สารเปลี่ยนสถานะ คือ สารที่สามารถกักเก็บพลังงานความร้อนได้ ซึ่งเป็นสารที่ทั่วโลกกำลังตื่นเต้นมาก เช่น ญี่ปุ่น ถ้าใส่เข้าไปเวลา    สร้างบ้าน สารตัวนี้ก็จะดูดความร้อนในตอนกลางวันและคลายออกมาในตอนกลางคืน ผมอยากบอกว่า PCM คือ สารเปลี่ยนอนาคต เพราะสามารถนำไปใส่ในสิ่งของต่างๆ ได้มากมาย เช่น นำไปใส่ในเส้นดายทอเป็นเสื้อผ้า หรือ ใช้กับสิ่งต่างๆ ที่ต้องการควบคุมอุณหภูมิได้  แล้วถ้าประเทศไทยเป็นประเทศแรกของโลกที่จะผลิต PCM จากพืชแทนน้ำมันปิโตรเลียมที่มีวิธีผลิตที่ซับซ้อนกว่า แถมยังได้ต้นทุนต่ำ ราคาถูก เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและ มีคุณสมบัติที่ดีกว่า เท่ากับเราจะสามารถเพิ่มมูลค่าได้หลายเท่าตัว ส่วนแบตเตอรี่ที่เรากำลังพัฒนา เพื่อเก็บไฟฟ้าในเวลาที่เราไม่ได้ใช้และจ่ายกระแสไฟฟ้าในเวลาที่เราต้องการ ถ้าเราผลิตได้ถูกลงเราก็ไม่จำเป็นที่จะต้องใช้พลังงานทดแทน ซึ่งมีโอกาสหมดไป บางคนบอกว่า แบตเตอรี่ยังแพงอยู่รอถูกลงค่อยซื้อหรือผลิตมาใช้ ซึ่งเป็นความคิดของผู้ตาม ถ้าประเทศไทยคิดแบบนี้ เราก็จะเป็นผู้ซื้อและเป็นผู้ตามเรื่อยไป เรากำลังจะมีโรงงานผลิตแบตเตอรี่ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยเงินลงทุนที่ถูกกว่า ราคาถูกกว่าแล้วเราก็จะสามารถส่งออกได้ในราคาที่ถูกกว่า แล้วทำไมประเทศไทยจะเป็นผู้ชนะบ้างไม่ได้ และเมื่อเราสามารถเพิ่มมูลค่าเพิ่มให้กับสิ่งที่เราผลิตแล้วเราก็นำมูลค่าเพิ่มที่ได้มาแบ่งปันให้กับห่วงโซ่ เช่น ชาวนา ชาวสวน ทุกคนก็จะได้ประโยชน์ เป็นจุดเริ่มต้นแห่งการแบ่งปัน

และเป็นการช่วยกันพัฒนาประเทศ เราต้องมองสิ่งเหล่านี้ให้เป็นโอกาสไม่ใช่วิกฤต เราต้องมั่นใจในคนไทยด้วยกัน เราต้องส่งเสริมให้เกิดการวิจัยและพัฒนา โดยใช้ประเทศเป็นห้องแลบ ห้องแสดงสินค้าให้ประเทศอื่นมั่นใจ มุมมองจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด มุมมองเป็นตัวกำหนดชีวิตของเรา ถ้าเราไม่มองวิกฤตให้เป็นโอกาส ไม่มองอุปสรรคให้เป็นความท้าทาย เราจะพัฒนาประเทศของเราได้อย่างไร ลองกลับมามองสิ่งที่เราทำแล้วลองเปลี่ยนแปลงมุมมองใหม่ เราอาจพบว่า ยังมีโอกาสอยู่ตรงหน้า ซึ่งอาจจะนำมาเปลี่ยนสมการประเทศไทยของเราให้เป็นสมการแห่งอนาคตได้ครับ”

 ดร.วิภู  รุโจปการ  นักดาราศาสตร์ฟิสิกส์ไทย ที่เชื่อมั่นว่า ดาราศาสตร์จะนำไปสู่การเกิดนวัตกรรมในการช่วยขับเคลื่อนประเทศให้พัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตคนทุกคน กับ “Striving Through the Stars” (สไตร์ฟวิ่ง ธรู เดอะ สตาร์ส) โดยมีใจความสำคัญว่า “ปัจจุบันนักดาราศาสตร์ไม่ได้ดูแต่ดาวเพียงอย่างเดียว งานของเราก้าวข้ามจุดที่เราจะใช้ดวงดาวมากำหนดชีวิตบนโลก แต่ใช้ศึกษา เพื่อการเข้าใจธรรมชาติของจักรวาล ในอนาคตพลังอำนาจของชาติจะถูกผูกโยงมากขึ้นเรื่อยๆ กับการมีและการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นักดาราศาสตร์มักจะให้โจทย์ที่ยากที่สุดและโจทย์ที่ยากที่สุดมักจะทำให้เกิดการพัฒนาและก่อให้เกิดนวัตกรรมที่ก้าวไปข้างหน้า นวัตกรรมไม่ใช่สิ่งที่เราจะสามารถวางแผนหรือจินตนาการมาก่อน แต่ปัจจุบันกลับมาอยู่ในชีวิตประจำวันของเราแบบที่ไม่สามารถประเมินมูลค่าได้ เช่น เมื่อ 40 ปีก่อนที่นักดาราศาสตร์พยายามที่จะจับแสงดาวที่จางที่สุดใช้ฟิล์มถ่ายไม่ได้ ผลักดันให้เราต้องใช้ชิพไวแสง ซึ่งตอนแรกมีไม่กี่พิกเซลและพัฒนามาจนเป็นพันพิกเซล ปัจจุบันเป็นล้านพิกเซล และมันก็มาอยู่ในกระเป๋าเรา คือ กล้องดิจิทัล หรือแม้แต่ไวไฟก็มาจากความพยายามของนักดาราศาสตร์ที่ใช้คลื่นวิทยุในการแก้ปัญหา เพื่อให้ได้ภาพดาวที่คมชัด เราจึงไม่หยุดค้นหาคำตอบจากการทำโจทย์ใหม่ๆ และโจทย์ที่ท้าทายมากขึ้นเรื่อยๆ เราไม่มีทางรู้หรอกว่า สิ่งที่ค้นพบในวันนี้จะกลายเป็นอะไร ในวันข้างหน้า เราเพียงรู้ว่า สิ่งเหล่านี้จะส่งผลย้อนกลับมาก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมเกิดการพัฒนา ส่งผลให้เกิดนวัตกรรมและส่งผลให้คุณภาพชีวิตของเราดีขึ้น รวมถึงลูกหลานของเรา”

 สามารถรับชมงานทอล์คสร้างแรงบันดาลใจ TEDxChulalongkornU ปีที่ 3  ย้อนหลังได้ที่ Youtube พิมพ์คำว่า TEDxChulalongkornU ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนนี้เป็นต้นไป

Political News