สำนักข่าวไทยไทม์นิวส์ • ThaitimeNews
loader
Foto

COVID-19 ทำให้ไทยส่งออกไปสหรัฐฯปี’63…หดตัว9.2%ครั้งแรกในรอบ10ปี

ประเด็นสำคัญ

           การส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ในไตรมาส 1/2563 หดตัวที่ร้อยละ 2.7 (YoY) ซึ่งถ้าหักสินค้าที่เกี่ยวกับยุทโธปกรณ์และรถถังเพื่อการซ้อมรบที่ทำให้ฐานการส่งออกผันผวน ก็นับว่าสหรัฐฯ เป็นตลาดที่สามารถเติบโตได้ดีถึงร้อยละ 15.8 (YoY) โดยเบื้องหลังการเติบโตดังกล่าวได้อานิสงส์จากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่ผลักดันให้สินค้า HDDs และยางล้อที่เป็นสินค้าส่งออกหลักทำตลาดในสหรัฐฯ ได้สูงขึ้น

           ขณะที่ COVID-19 กำลังการแพร่ระบาดอย่างหนักในสหรัฐฯ เป็นความเสี่ยงใหม่ที่กระทบการส่งออกของไทยตลอดปีนี้ โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า COVID-19 แม้จะทำให้สินค้าเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ และสินค้าสนับสนุนกิจกรรม WFH ยังมีโอกาสทำตลาดได้ แต่ก็เป็นส่วนน้อยเท่านั้นเมื่อเทียบกับสินค้าส่งออกส่วนใหญ่ที่เป็นสินค้าขั้นกลางและสินค้าสำเร็จรูปในกลุ่มฟุ่มเฟือยและยังไม่จำเป็นต่อการใช้งานในเวลานี้ ประกอบกับสินค้าไทยบางรายกำลังถูกตัดสิทธิ GSP ก็มีส่วนทำให้สินค้าฟุ่มเฟือยบางรายการทำตลาดได้ยากขึ้นอีก รวมถึงสินค้าอาหารที่เป็นสินค้าจำเป็นก็พึ่งพาการใช้สิทธิ GSP ในการทำตลาดค่อนข้างมากก็ถูกตัดสิทธิไปหลายรายการเช่นกัน ทำให้ภาพรวมการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ตลอดปี 2563 หดตัวที่ร้อยละ 9.2 เป็นครั้งแรกในรอบทศวรรษ มีมูลค่าการส่งออกแตะระดับต่ำที่ 28,467 ล้านดอลลาร์ฯ  (กรอบประมาณการที่หดตัวร้อยละ 12.8 ถึงหดตัว 7.3  มีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 27,325-29,000 ล้านดอลลาร์ฯ)

ขณะนี้สหรัฐฯ ได้กลายเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในฝั่งภูมิภาคอเมริกาและส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจชะงักงันเช่นเดียวกับประเทศอื่น ดังจะเห็นได้จากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (Manufacturing PMI) และภาคบริการ (Services PMI) ในเดือนมีนาคม 2563 ปรับตัวต่ำสุดในรอบทศวรรษลงมาอยู่ที่ระดับ 48.2 และระดับ 39.8 ตามลำดับ เป็นการหดตัวอย่างรุนแรงของภาคการผลิตที่เป็นผลจากการปิดโรงงานและคำสั่งซื้อที่สินค้าที่ลดลง สำหรับภาคบริการก็หดตัวทุกสาขาหดตัวยกเว้นการบริการด้านสุขภาพ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ น่าจะควบคุมสถานการณ์ได้ดีขึ้นหลังจากไตรมาส 2/2563 แต่ภาวะอ่อนแรงตลอดปีก็ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ทั้งปี 2563 หดตัวถึงร้อยละ 4.0 อีกทั้งมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสก็ทำให้กระทบต่อการใช้ชีวิต เศรษฐกิจและรายได้ของผู้บริโภคชาวอเมริกัน ทำให้การใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นจะถูกลดลงโดยอัตโนมัติส่งผลต่อเนื่องมายังการซื้อสินค้าจากไทยตลอดปี 2563

                ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาส 1/2563 การแพร่กระจายของเชื้อ COVID-19 ยังไม่ลุกลามมากในสหรัฐฯ ทำให้การส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ยังอยู่ในภาวะปกติแม้จะหดตัวร้อยละ 2.7 (YoY) แต่ก็มีภาพค่อนข้างดีกว่าการส่งออกไปญี่ปุ่นและสหภาพยุโรปที่หดตัวร้อยละ 5.5 (YoY) และร้อยละ 3.9 (YoY) ตามลำดับ และถ้าหักการส่งออกยุทโธปกรณ์และรถถังเพื่อการซ้อมรบที่ทำให้มูลค่าการส่งออกผันผวน จะพบว่าการส่งออกไปสหรัฐฯ ยังคงขยายตัวสูงถึงร้อยละ 15.8 (YoY) โดยส่วนหนึ่งสินค้าไทยได้อานิสงส์จากสงครามการค้าทำให้สามารถส่งสินค้าไทยไปแทนที่สินค้าจีนในสหรัฐฯ ได้มากขึ้น อาทิ คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง (ยางล้อ) และไดโอด รวมทั้งสินค้าอื่นที่ตอบโจทย์การบริโภคก็ยังมีภาพที่เป็นบวกอยู่ อาทิ รถยนต์และส่วนประกอบ และอาหารทะเลกระป๋อง

อย่างไรก็ดี การส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ปี 2563 ยังมีความท้าทายเดิมที่รออยู่ โดยในวันที่ 25 เมษายน 2563 สินค้าไทยกำลังจะถูกสหรัฐฯ ตัดสิทธิ GSP ซึ่งถ้าหากพิจารณาเฉพาะการตัดสิทธิ GSP จะกระทบต่อการส่งออกจำนวน 573 รายการที่ถูกตัดสิทธิเท่านั้น และไม่กระทบต่อภาพรวมของไทย เนื่องจากสินค้ากลุ่มดังกล่าวคิดเป็น 1 ใน 3 ของสินค้าที่ใช้สิทธิ GSP ของสหรัฐฯ และเป็นเพียงสัดส่วนร้อยละ 4.1 ของการส่งออกไทยไปสหรัฐฯ แต่การตัดสิทธิ GSP ที่ทำให้สินค้าไทยแพงขึ้นจากการที่ต้องเสียภาษีในอัตราปกติ (MFN Rate) จากเดิมไม่ต้องเสียภาษี โดยสินค้าที่ถูกตัดสิทธิมีทั้งกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม สินค้าอุปโภคบริโภคและโดยเฉพาะสินค้าอาหารที่พึ่งพาสิทธิในการทำตลาดอันจะยิ่งทำให้สินค้าไทยทำตลาดในสหรัฐฯ ได้ยากขึ้น ในภาวะที่กำลังซื้อของสหรัฐฯ อ่อนไหวอย่างมากจากผลของ COVID-19

ในปัจจุบันสินค้าส่งออกหลักของไทยไปสหรัฐฯ ราวร้อยละ 60 ของการส่งออกไปสหรัฐฯ เป็นกลุ่มสินค้ากึ่งสำเร็จรูปและสินค้าสำเร็จรูปที่ล้วนเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย ซึ่งด้วยภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อของสหรัฐฯ ที่ซบเซาอย่างมาก ทำให้สินค้ากลุ่มนี้แทบจะไม่มีโอกาสทำตลาดได้เลยในช่วงที่เหลือของปี จากที่ในช่วงไตรมาส 1/2563 ที่การส่งออกสินค้ากลุ่มนี้หดตัวร้อยละ 12.8 (YoY) อาทิ ยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์ เครื่องประดับ เสื้อผ้า รองเท้า อุปกรณ์กีฬา อุปกรณ์สำหรับการเดินทาง ส่วนประกอบเครื่องจักร อีกทั้ง สินค้าฟุ่มเฟือยบางรายการก็ถูกตัดสิทธิ GSP ในรอบนี้ด้วย แม้ว่าจะมีมูลค่าการส่งออกไม่สูงแต่ก็ทำให้สินค้าไทยสูญเสียโอกาสทำตลาดมากขึ้นไปอีก อาทิ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สำหรับผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า เซรามิก ยางล้อ มอเตอร์ไซด์ รองเท้า กระเป๋าสาน ดอกไม้ประดิษฐ์  อุปกรณ์กีฬา

                นอกจากนี้ สินค้ากลุ่มอาหารที่เป็นสินค้าจำเป็นต่อการบริโภค ก็ต้องเผชิญแรงกดดันทั้งกำลังซื้อของชาวอเมริกันที่ลดลง และธุรกิจที่เป็นปลายทางนำเข้าอาหารไทยก็ประสบวิกฤตไม่ว่าจะเป็นร้านอาหารไทย โรงแรม และการท่องเที่ยว ประกอบกับในปัจจุบันการส่งออกสินค้าอาหารไปสหรัฐฯ ราวร้อยละ 25 พึ่งพา GSP เป็นตัวช่วยในการทำตลาดสหรัฐฯ ซึ่งในจำนวนดังกล่าวกำลังจะถูกตัดสิทธิไปถึง 1 ใน 3 โดยเฉพาะอาหารทะเลสด/แปรรูป ผักและผลไม้แปรรูป สถานการณ์ข้างต้นไม่ส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าในกลุ่มนี้จากปัจจุบันขยายตัวที่ร้อยละ 12.7 (YoY) แม้จะมีสัดส่วนเพียงการส่งออกร้อยละ 10 ของการส่งออกไปสหรัฐฯ โดยสินค้าส่งออกสำคัญอื่นๆ ได้แก่ ข้าว ผักและผลไม้แปรรูป อาหารแปรรูป อาหารสัตว์เลี้ยง

ทั้งนี้ ท่ามกลางวิกฤต COVID-19 ที่ฉุดกำลังซื้อและการส่งออกสินค้ากลุ่มหลักของไทย แต่สินค้าจำเป็นในการต่อสู้กับ COVID-19 ก็ยังมีสัญญาณบวกที่น่าจะเติบโตต่อเนื่องจากในไตรมาส 1/2563 ที่ขยายตัวร้อยละ 23 (YoY) ซึ่งสินค้าเหล่านี้คิดเป็น 1 ใน 3 ของการส่งออกไปสหรัฐฯ จึงไม่มีแรงส่งเพียงพอที่จะขับเคลื่อนการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ในภาพรวม โดยตัวอย่างสินค้าที่ยังไปได้ดีประกอบด้วยสินค้าที่ตอบสนองกิจกรรมทำงานจากบ้าน (Work From Home) ในกลุ่มคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ซึ่งในขณะนี้สินค้าไทยก็ทำตลาดได้ดีด้วยอานิสงส์ของสงครามการค้าทำให้สินค้าไทยเข้าไปแทนที่สินค้าจีนได้จนมีส่วนแบ่งในตลาดสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น อาทิ การส่งออก HDDs มีการขยายตัวถึงร้อยละ 33 วงจรพิมพ์ขยายตัวร้อยละ 6.8 นอกจากนี้ ยังมีสินค้าเวชภัณฑ์ทางการแพทย์แม้จะมีความต้องการสูงแต่ไทยไม่ค่อยได้อานิสงส์เท่าไหร่ เพราะไทยไม่ได้เป็นผู้ผลิตและส่งออกไม่ว่าจะเป็นถุงมือทางการแพทย์ หน้ากากอนามัย ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ชุดอุปกรณ์ป้องกันเชื้อ แต่ไทยส่งออกยางพารา เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ที่ใช้ในการผลิตสินค้าดังกล่าวได้บางส่วนเท่านั้น รวมทั้งเครื่องปรับอากาศและคอมเพรสเซอร์ซึ่งก็เป็นหนึ่งในส่วนประกอบของโรงพยาบาลสนาม และการจัดทำห้องความดันลบจึงเป็นที่ต้องการอย่างมากที่ไทยมีศักยภาพในการผลิตและไทยยังได้สิทธิ GSP จึงน่าจะทำตลาดได้ต่อเนื่องในขณะนี้ขยายตัวที่ร้อยละ 85.4

 โดยสรุป ไวรัส COVID-19 ที่ระบาดรุนแรงได้กลายเป็นความเสี่ยงใหม่ที่ส่งผลให้ผู้บริโภคในสหรัฐฯ ใช้จ่ายอย่างระมัดระวังขึ้น ซึ่งไม่ส่งผลดีต่อการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ที่ส่วนใหญ่ไทยส่งสินค้ากึ่งสำเร็จรูปและสำเร็จรูปในกลุ่มฟุ่มเฟือย อีกทั้งการตัดสิทธิ GSP ก็ยิ่งทำให้สินค้าที่ถูกตัดสิทธิทำตลาดได้ยากเข้าไปอีก ทั้งในกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมในกลุ่มฟุ่มเฟือย รวมทั้งสินค้าจำเป็นในกลุ่มอาหารด้วยเช่นกัน ขณะเดียวกันท่ามกลางวิกฤตก็ยังมีสัญญาณบวกจากการส่งออกเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ สินค้าเพื่อการ Work From Home แต่ก็มีมูลค่าไม่สูงพอจะสนับสนุนภาพรวมได้ ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ด้วยผลของ COVID-19 ทำให้การส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ในปี 2563 ลดลงมาอยู่ที่ 28,467 ล้านดอลลาร์ฯ หดตัวที่ร้อยละ 9.2 เป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี นับจากช่วงวิกฤตเศรษฐกิจทางการเงินของสหรัฐฯ ที่ทำให้การส่งออกของไทยในปี 2552 หดตัวแรงถึงร้อยละ 17.8 ซึ่งถ้าหากตลาดสหรัฐฯ ฟื้นตัวได้เร็วด้วยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลังจากนี้มีโอกาสที่การส่งออกของไทยจะหดตัวน้อยลงมาอยู่ที่หดตัวร้อยละ 7.3 มีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 29,000 ล้านดอลลาร์ฯ  แต่ถ้าหากสหรัฐฯ ไม่สามารถควบคุมการระบาดของ COVID-19 ให้ได้ในช่วงครึ่งปีแรก คงทำให้การส่งออกของไทยหดตัวลึกลงไปที่ร้อยละ 12.8 มีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 27,325 ล้านดอลลาร์ฯ

อย่างไรก็ดี เมื่อสถานการณ์ทุกอย่างกลับสู่ภาวะปกติที่คาดว่าจะทยอยเกิดขึ้นได้ในช่วงไตรมาส 4/2563 โจทย์สำคัญลำดับแรกที่รออยู่ คือการเตรียมพร้อมรับมือกับการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดสหรัฐฯ ที่อาจมาพร้อมกับการทยอยสูญเสียสิทธิ GSP ไปอีกในปีต่อๆ ไป แน่นอนว่าสินค้าที่สหรัฐฯ ผลิตได้ไม่เพียงพอแล้วสินค้าไทยตรงกับความต้องการดังกล่าวย่อมทำตลาดได้อยู่แล้ว แต่สำหรับสินค้าอุตสาหกรรมที่ประเทศในอาเซียนก็ผลิตได้เหมือนกัน ต่อจากนี้ไปคงวัดกันที่ต้นทุนการผลิตและราคาสินค้า ยิ่งถ้าสินค้านั้นได้สิทธิ GSP ก็ยิ่งมีความได้เปรียบในการทำตลาดที่สูงกว่า ดังนั้น หลังจากนี้การรักษาตลาดสหรัฐฯ จึงอาจต้องแข่งขันดึงดูดการลงทุนให้คงอยู่ในประเทศเพื่อให้สามารถต่อยอดการผลิตและส่งออกได้ต่อไป นอกจากนี้ การหาตลาดใหม่ก็เป็นการช่วยเพิ่มโอกาสทำตลาดของสินค้าไทยไปยังพื้นที่อื่น และช่วยกระจายความเสี่ยงจากเหตุการณ์ไม่คาดคิดได้ในระดับหนึ่ง

Political News