สำนักข่าวไทยไทม์นิวส์ • ThaitimeNews
loader
Foto

สจล.เตรียมส่งมอบเครื่องช่วยหายใจGO Life Ventilator ล็อตแรกแก่กทม. 20 ตัว

สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) โดย ศูนย์รวมนวัตกรรม KMITL GO FIGHT COVID-19 เตรียมส่งมอบเครื่องช่วยหายใจ GO Life Ventilator ให้แก่กรุงเทพมหานครจำนวน 20 เครื่อง เพื่อช่วยผู้ป่วยโควิด-19 ในระยะเบื้องต้น จนถึงระยะรุนแรง ที่มีอาการหายใจติดขัด และมีความจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจเพื่อผลักความดันและออกซิเจนเข้าไปในปอด โดยเครื่องช่วยหายใจดังกล่าว มีจุดเด่นในการผลิตที่ใช้ต้นทุนต่ำ และสามารถผลิตขึ้นจำนวนมากเพื่อแจกจ่ายให้แก่โรงพยาบาล และหน่วยงานที่มีความต้องการ ทั้งนี้ สำหรับประชาชนที่สนใจร่วมบริจาคเพื่อสมทบทุนการผลิตเพื่อแจกจ่ายแก่โรงพยาบาลทั่วประเทศ สามารถบริจาคได้ที่ธนาคารกรุงไทย ชื่อบัญชี  สจล. นวัตกรรมสู้ COVID-19 เลขที่บัญชี 693-031-750-0

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า สจล. ตระหนักถึงความรุนแรงของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระดับโลก โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา และประเทศแถบยุโรปที่มีผู้ติดเชื้อ และผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ซึ่งแม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของประเทศไทยจะยังไม่รุนแรงขนาดกลุ่มประเทศดังกล่าว แต่จำเป็นต้องมีการเตรียมพร้อมรับมือ โดยเฉพาะความพร้อมในด้านเครื่องมือทางการแพทย์ที่ใช้กับผู้ป่วยติดเชื้อในทุกระดับที่ต้องพร้อมใช้งาน และมีจำนวนเพียงพอสำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดที่อาจรุนแรงขึ้น ด้วยเหตุนี้ ศูนย์รวมนวัตกรรม KMITL GO FIGHT COVID-19 โดยสำนักงานบริหารงานวิจัยและนวัตกรรมพระจอมเกล้าลาดกระบัง (KRIS) จึงได้เปิดตัวนวัตกรรมเครื่องช่วยหายใจ Go Life Ventilator สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ในระดับเบื้องต้น ไปจนถึงระดับรุนแรง และเตรียมผลิตเพื่อแจกจ่ายให้แก่โรงพยาบาล และหน่วยงานที่มีความต้องการใช้เครื่องมือดังกล่าว ทั้งนี้ศูนย์รวมนวัตกรรม KMITL GO FIGHT COVID-19 จัดตั้งขึ้นภายใต้โครงการ 60 ปี พระจอมเกล้าลาดกระบัง ไร้ขีดจำกัด (KMITL 60th Year: Go Beyond the Limit) เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยสังคมก้าวผ่านสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวเพิ่มว่า นวัตกรรมเครื่องช่วยหายใจ GO Life Ventilator  ของ สจล. มีแนวคิดการผลิตในปริมาณมาก เพื่อแจกจ่ายให้แก่โรงพยาบาลที่มีความต้องการใช้งานกับผู้ป่วยโควิด-19 ในระดับที่มีอาการติดเชื้อในปอด ซึ่งมีความจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจดังกล่าว อีกทั้งจำลองคุณสมบัติของเครื่องช่วยหายใจขนาดใหญ่ในโรงพยาบาล ให้อยู่ในขนาดที่พกพาได้ เพื่อแจกจ่ายให้แก่โรงพยาบาล และผู้ที่มีความจำเป็นในการใช้งาน สามารถนำไปใช้เองได้ที่บ้าน อีกทั้งยังเป็นการลดต้นทุนการผลิต

ทั้งนี้นวัตกรรมเครื่องช่วยหายใจที่ผลิตขึ้นโดย หลักสูตรวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. มีต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 5,000 – 10,000 บาท ในขณะที่เครื่องช่วยหายใจขนาดใหญ่ที่ใช้ในโรงพยาบาลมีต้นทุนการผลิตถึงเครื่องละเกือบ 1 ล้านบาท โดยหลักการของเครื่องช่วยหายใจดังกล่าวได้รับแนวคิดมาจากเครื่องช่วยหายใจชนิดบีบมือ (Ambu bag) ซึ่งทีมนักพัฒนานวัตกรรมได้นำมาประยุกต์ใช้กับระบบควบคุมโดยเมคคานิค ที่สามารถตรวจจับจังหวะการหายใจของผู้ป่วย และเครื่องจะทำการบีบอัดแรงดันบวกเข้าไปโดยอัตโนมัติในจังหวะที่เข้ากับอัตราการหายใจของผู้ป่วย ทำให้การใช้งานมีความง่าย สะดวก และปลอดภัย ผ่านมาตรฐานการตรวจสอบระดับสูง อย่างไรก็ตามนวัตกรรมเครื่องช่วยหายใจดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนการผลิตเพื่อแจกจ่ายให้แก่โรงพยาบาลที่สนใจ สำหรับหน่วยงานที่สนใจสนับสนุนการผลิตนวัตกรรมดังกล่าว สามารถติดต่อสำนักงานบริหารงานวิจัยและนวัตกรรมพระจอมเกล้าลาดกระบัง (KRIS) โทร. 091-812-0416 หรืออีเมล [email protected] หรือประชาชนที่สนใจร่วมบริจาคเพื่อสมทบทุนการผลิตเพื่อแจกจ่ายแก่โรงพยาบาลทั่วประเทศ สามารถบริจาคได้ที่ธนาคารกรุงไทย ชื่อบัญชี  สจล. นวัตกรรมสู้ COVID-19 เลขที่บัญชี 693-031-750-0 ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้ การรับบริจาค เพื่อสบทบทุนสร้างเครื่องช่วยหายใจ และห้องแยกโรคความดันต่ำ (Negative Pressure Room) โดยหากประชาชนสนใจร่วมบริจาคได้ที่ ธนาคารกรุงไทย ชื่อบัญชี  สจล. นวัตกรรมสู้ COVID-19 เลขที่บัญชี 693-031-750-0

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Political News