สำนักข่าวไทยไทม์นิวส์ • ThaitimeNews
loader
Foto

ไขเคล็ดลับ-เส้นทาง-แนวคิด 4 เอสเอ็มอีเด่นจากงาน “วันแห่งโอกาสดี@CP ALL 2020”

เรื่องราว เทคนิค และเคล็ดลับ ของเอสเอ็มอีที่ “ผ่านร้อนผ่านหนาวมาก่อน” ถือเป็นทั้งทางลัดและต้นแบบสำคัญที่สามารถช่วยเอสเอ็มอีรายอื่นๆ ในการนำไปประยุกต์และต่อยอดให้ธุรกิจของตัวเองประสบความสำเร็จได้ ในงาน “วันแห่งโอกาสดี@CP ALL 2020” ที่เพิ่งผ่านพ้นไปเมื่อเร็วๆ นี้ จึงได้รวบรวมเหล่าเอสเอ็มอีที่ประสบความสำเร็จจำนวนมาก มาพูดคุย และแบ่งปันเส้นทางการเติบโตและแนวคิดการพัฒนาธุรกิจ ร่วมแบ่งปันองค์ความรู้ให้แก่เอสเอ็มอีรายอื่นๆ ให้สามารถก้าวสู่เส้นทางความสำเร็จได้ต่อไป

เริ่มต้นจากบนเวทีเสวนาหัวข้อสำคัญ “SME Key Success : สำเร็จได้ ถ้ารู้เคล็ดลับ” โดย ชัยพร โสธรนพบุตร เจ้าของธุรกิจ SME มะม่วงแปรรูป “วรพร” ซึ่งก่อตั้งมานานกว่า 20 ปี เล่าว่า ปัจจัยสู่ความสำเร็จของเขามาจากหลายด้าน เริ่มจาก 1.รสชาติ ต้องอร่อย มีการปรับสูตร และพัฒนารสชาติอยู่อย่างสม่ำเสมอ โดยจะมีการทำ Blind Test ให้พนักงานปิดตาทดลองชิมสินค้าหลายๆ ยี่ห้อ เขียนคอมเมนท์ แล้วโหวตเลือกมะม่วงที่อร่อยที่สุด หากครั้งไหน สินค้ามะม่วงของบริษัทแพ้ ก็จะมีการนำคอมเมนท์มาใช้เพื่อปรับปรุงรสชาติต่อไป ขณะเดียวกัน จะสังเกตจากยอดขายด้วย หากเมื่อไหร่ที่ยอดขายเริ่มนิ่ง ก็จะมีการพิจารณาปรับสูตรและสินค้า เช่น ชิ้นเล็กลง เปรี้ยวน้อยลง หวานน้อยลง 2.บรรจุภัณฑ์ หรือ แพ็คเกจจิ้ง ต้องออกแบบให้ลูกค้าแกะง่าย ถือง่าย น้ำจิ้มไม่หกหรือกระเด็น 3.ราคา ต้องเป็นราคาที่จับต้องได้ 4.ช่องทางการจัดจำหน่าย เนื่องจากต้องการให้สินค้ามะม่วงแปรรูปเป็นสินค้า “หยิบทานง่าย ใกล้บ้านคุณ” การได้วางสินค้าในเซเว่น อีเลฟเว่น จึงถือเป็นช่องทางสำคัญ

 “พอผลิตมาวางจำหน่ายใน เซเว่น อีเลฟเว่น เราก็หมดกังวลกับการทำการตลาดและการกระจายสินค้าไปเลย เพราะยังไงคนก็รู้จัก และเดินเข้าอยู่แล้วทุกๆ วัน ทีมงานของเซเว่น อีเลฟเว่นได้ช่วยให้คำแนะนำในการพัฒนาด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง จนเราสามารถเติบโตไปพร้อมกับเซเว่น อีเลฟเว่น สร้างงานสร้างอาชีพให้แก่พนักงานกว่า 120 คน และส่งต่อโอกาสให้เกษตรกรชาวสวนมะม่วงอีกกว่า 100 ราย” ชัยพร ระบุ

ด้านอำพล เครือไวศยวรรณ เจ้าของแบรนด์หมวกและเสื้อผ้า “เอทู” ผู้ได้รับรางวัล “เซเว่น อีเลฟเว่น เอสเอ็มอีไทยยั่งยืน 2562” สาขา SME เพื่อชุมชน เล่าว่า ปัจจุบัน สินค้าของเขามีจำหน่ายอยู่ที่ร้านเซเว่น อีเลฟเว่นในปั๊มน้ำมันและแถบแหล่งท่องเที่ยวกว่า 1,200 สาขาทั่วประเทศ โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธุรกิจของเขาประสบความสำเร็จ คือ การปรับตัวและเลือกพัฒนาสินค้าให้เข้ากับแต่ละภาค แต่ละฤดูกาล แต่ละเทศกาลอยู่เสมอ เช่น สินค้าผ้ามัดย้อม ก็จะเน้นเจาะตลาดแหล่งท่องเที่ยวในภาคใต้ และช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยทางเซเว่น อีเลฟเว่น ก็จะเข้ามาให้คำแนะนำว่าช่วงไหน สินค้าประเภทใดน่าจะเป็นสินค้าขายดีด้วย

 “อีกเรื่องคือการที่เราช่วยชุมชน พัฒนาทักษะของเขาในการทำงานฝีมือต่างๆ จนสามารถเข้ามาช่วยเราในการผลิตเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย ตั้งแต่หมวก เสื้อ กางเกง รองเท้า ส่งไปจำหน่ายได้ทุกภูมิภาค ทำให้บริษัทสามารถเติบโตจากการเป็นเพียงผู้รับจ้างผลิต หรือ โออีเอ็ม มาสู่การเป็นเอสเอ็มอีที่สร้างรายได้เดือนละ 3-4 ล้านบาท และดูแลเครือข่ายกลุ่มแม่บ้านกว่า 70-80 ชีวิตให้มีงานทำ มีรายได้ที่มั่นคง” อำพล ระบุ

ส่วนวิรชัช เจะเหล็ม นายกสมาคมประมงพื้นบ้านหัวไทร จ.นครศรีธรรมราช ภาคประชาสังคมที่มุ่งมั่นผลิตสินค้าเพื่อสังคม เล่าว่า จากการรวมตัวกันของชุมชน 5 เครือข่าย รวมกว่า 300 คน ได้เดินหน้าเรื่องการพัฒนาประมงพื้นบ้านให้ตอบโจทย์แนวคิด อนุรักษ์ เพิ่มปริมาณสัตว์น้ำ อนุรักษ์ มีรายได้ และอนุรักษ์ กินได้ แต่ละกลุ่มจะทำประมงกับทรัพยากรในพื้นที่ของตัวเอง โดยไม่ไปทำลายทรัพยากรในพื้นที่ของคนอื่น เพื่อให้ระบบนิเวศน์ทางทะเลยังสามารถฟื้นฟูกลับมาช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน ชุมชนยังได้รับการสนับสนุนจากโครงการ “SEACOSYSTEM เพื่อทะเลไทยยั่งยืน” โดยเครือเจริญโภคภัณฑ์ด้วย ส่งผลให้ชุมชนสามารถดำเนินธุรกิจเพื่อสังคม สร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่ชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

หลังจากได้จัดจำหน่ายสินค้าประมงแปรรูปในพื้นที่ชุมชนมาแล้ว ทางชุมชนเองก็พยายามมองหาโอกาสในการไต่ระดับไปสู่การออกอีเวนท์สำคัญต่างๆ โดยในครั้งนี้ได้รับโอกาสจากทางซีพี ออลล์ ให้มาร่วมออกบูธในงานวันแห่งโอกาสดี@CP ALL 2020 นำสินค้าประมงแปรรูปหลากหลาย อาทิ ปลาเกล็ดขาวแห้ง ปลาเกล็ดขาวผีเสื้อ มาจำหน่ายภายในงาน โดยรายได้และกำไรที่ได้รับจะนำไปจัดสรรทั้งการช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศ การมอบให้กับมัสยิดหรือวัด และการมอบทุนการศึกษาให้แก่เด็กยากจน

ขณะที่ สวรรยา พิพัฒน์ไพศาล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ทเวนตี้โฟร์ ช้อปปิ้ง จำกัด กล่าวว่า จุดขาย และสตอรี่ของการขาย ถือเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับเอสเอ็มอีที่ต้องการจะขายสินค้าบนช่องทางออนไลน์ เพราะการนำสินค้าขึ้นมาวางบนช่องทางออนไลน์เฉยๆ ไม่ได้ทำให้มีคนซื้อ ต้องมีการสร้างสรรค์จุดเด่น สร้างการรับรู้ และเล่าถึงเรื่องราวที่จะเป็นประโยชน์กับผู้บริโภคขึ้นมา ขณะเดียวกัน ต้องเข้าใจเทรนด์สินค้าที่ผู้บริโภคกำลังต้องการ เช่น ปัจจุบัน ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับเรื่องสินค้าสำหรับผู้สูงอายุ สังเกตได้จากยอดขายสินค้ากลุ่มดังกล่าว เช่น ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ เติบโตขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ

สำหรับทเวนตี้โฟร์ ช้อปปิ้ง เป็นบริษัทในกลุ่มซีพี ออลล์ ประกอบด้วยช่องทางจัดจำหน่ายหลากหลายช่องทาง อาทิ เว็บไซต์ shop at 24 ที่มีสินค้าจากทั้งเอสเอ็มอีและผู้ประกอบการต่างๆ มาวางขายบนช่องทางออนไลน์ ผู้ที่จะนำสินค้าเข้ามาวางจำหน่ายได้ จำเป็นต้องผ่านเกณฑ์มาตรฐานสำคัญของภาครัฐ อาทิ ได้รับมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) ได้รับมาตรฐานองค์การอาหารและยา (อย.) ภายในงานวันแห่งโอกาสดี@CP ALL ที่เพิ่งผ่านพ้นไป มีเอสเอ็มอีหลายรายได้มาร่วมพูดคุยและนำเสนอสินค้าในงาน เพื่อนำขึ้นจำหน่ายในช่องทางของทเวนตี้โฟร์ ช้อปปิ้งด้วย

แนวคิด เส้นทางธุรกิจ ตลอดจนองค์ความรู้ที่เอสเอ็มอีได้แบ่งปันในงาน “วันแห่งโอกาสดี@CP ALL 2020” น่าจะเป็นการแบ่งปันองค์ความรู้ที่สำคัญให้เอสเอ็มอีทุกประเภทสามารถนำไปใช้พัฒนาธุรกิจของตัวเองต่อไปได้ สอดคล้องกับปณิธานของซีพี ออลล์ ที่มุ่งมั่น “ร่วมสร้างสรรค์และแบ่งปันโอกาสเพื่อทุกคน”

Political News