สำนักข่าวไทยไทม์นิวส์ • ThaitimeNews
loader
Foto

ถุงชีวภาพยืดอายุสับปะรด ย่อยสลายเองได้

ฝ่ายบูรณาการวิจัยและความร่วมมือเพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่ สังกัด สกสว.

                อาจารย์ณิชากร ปทุมรังสรรค์ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ทั่วไป คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง เปิดเผยถึงงานวิจัยเพื่อยืดอายุสับปะรดผลสดและสับปะรดตัดแต่งด้วยถุงพลาสติกชีวภาพว่า โครงการดังกล่าวอยู่ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณโดยฝ่ายบูรณาการวิจัยและความร่วมมือเพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาวัสดุที่สามารถย่อยสลายได้ทางธรรมชาติเพื่อทดแทนวัสดุพลาสติกที่ย่อยสลายไม่ได้และนำมาใช้ยืดอายุสับปะรดผลสดและสับปะรดตัดแต่งเพื่อแก้ไขปัญหาการเน่าเสีย และภาวะล้นตลาด

                อาจารย์ณิชากร เลือกใช้ Polylactic acid (PLA) ร่วมกับ Polybutyrate adipate terephthalate (PBAT) และสารเติมแต่ง นำมาพัฒนาสูตรโดยการปรับอัตราส่วนของแต่ละองค์ประกอบเพื่อให้มีความเหนียวขึ้น มีความสามารถในการซึมผ่านของแก๊สออกซิเจนและไอน้ำสูงขึ้น กระทั่งได้ถุงพลาสติกชีวภาพที่สามารถยืดอายุสับปะรดผลสดและสับปะรดตัดแต่งเพิ่มขึ้นจากการเก็บรักษาโดยทั่วไป 5-6 วัน เป็น 12 วัน

                จากการทดสอบโดยนำสับปะรดผลสดบรรจุลงในถุงพลาสติกชีวภาพขนาดกว้าง 8 นิ้ว ยาว 12 นิ้ว พบว่า ถุงพลาสติกชีวภาพไม่มีหยดน้ำในถุง ส่งผลให้ผลสับปะรดไม่ช้ำเน่า และเมื่อตัดขวางสับปะรดพบว่าเนื้อสับปะรดมีความช้ำน้อยกว่า สับปะรดผลสดที่ถูกเก็บในถุง PLA และถุงPE ส่วนผลการทดลองกับสับปะรดตัดแต่งพบว่าเนื้อสับปะรดในถุงพลาสติกชีวภาพมีความช้ำของเนื้อและการเกิดไส้สีน้ำตาลน้อยกว่า สับประรดตัดแต่งที่เก็บในถุงพลาสติกPE ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรหรือผู้ค้ามีระยะเวลาในการขายสับปะรดได้นานขึ้น อีกทั้งยังช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสับปะรดได้อีกทางหนึ่ง.

Political News