สำนักข่าวไทยไทม์นิวส์ • ThaitimeNews
loader
Foto

คนไทยเสี่ยงแค่ไหนกับไข้หูดับ

เมื่อโรคไข้หูดับไม่หายไป แต่คนไทยกลับเป็นโรคนี้มากขึ้นและมีอาการรุนแรงขึ้น ซึ่งกองโรคติดต่อทั่วไปให้ความสนใจและเฝ้าระวังโรคนี้ เนื่องจากไข้หูดับไม่เพียงทำให้เกิดอาการหูหนวกถาวร แต่ทุกวันนี้มีความเสี่ยงถึงขั้นเสียชีวิตได้

 “โรคไข้หูดับ” พบในประเทศไทยมาราว 50 – 60 ปี แล้ว โดยแบคทีเรียสเตรปโตคอคคัส ซูอิส (Streptococcus suis; S.suis) ที่อยู่ในสุกร ซึ่งพบบ่อยช่วงฤดูร้อน จากพฤติกรรมการบริโภคและความก้าวหน้าทางการแพทย์ที่ส่งผลให้คนอายุยืนขึ้น ส่งผลให้ปัจจุบันมีความชุกในการเกิดโรคมีเพิ่มขึ้นและแนวโน้มความชุกมีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงความรุนแรงของเชื้อโรคที่ส่งผลให้เสียชีวิตได้ ดังนั้นผู้บริโภคจะเตรียมพร้อมรับมือการปนเปื้อนในเนื้อหมูที่ซื้อมาทำอาหาร ที่จะมีความปลอดภัยหรือความเสี่ยงจากเชื้อชนิดนี้แค่ไหน

รศ.น.สพ.ดร.ศุภชัย เนื้อนวลสุวรรณ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิจัยของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวว่า “เชื้อที่ก่อโรคไข้หูดับเกิดจาก S.suis 2-3 สายพันธุ์ โดยเฉพาะ type 2 ซึ่งส่วนใหญ่พบในสุกรเป็นหลัก มีรายงานการพบเชื้อนี้ตั้งแต่ช่วงหย่านม  เนื่องจากความเครียดจากการเปลี่ยนอาหาร กระทบต่อระดับภูมิคุ้มกัน และการเกิดบาดแผลที่ผิวหนังจากการกัดกัน เชื้อชนิดนี้มักจะไม่ก่อโรคในหมูแต่จะก่อโรคในคนและสามารถถ่ายทอดจากหมูสู่คนผ่านการบริโภคผลิตภัณฑ์สุกรได้ ซึ่งโอกาสการติดเชื้อสามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ระดับโรงฆ่าสัตว์จนถึงตลาดสด ในประเทศไทยมีข้อมูลในความเสี่ยงของโรคชนิดนี้โดยเฉพาะส่วนค้าปลีกที่จะส่งถึงมือผู้บริโภคอยู่น้อยมาก”

 “พื้นฐานการประเมินความเสี่ยง (Risk Assessment) ด้านสุขอนามัย คือ การแปลงผลจากห้องปฏิบัติการ สู่การกินดีอยู่ดีของคนเรา เช่น รับประทานแล้วป่วยหรือไม่ โดยความเสี่ยงจะรายงานเป็นสัดส่วนผู้ป่วยต่อจำนวนประชากรที่มีรับประทานผลิตภัณฑ์สุกรที่ปนเปื้อน ข้อดีของข้อมูลลักษณะนี้ คือ สามารถสร้างความตระหนักให้แก่ประชาชนรวมถึงสังคมโดยรอบในประเด็นความเสี่ยงของผู้บริโภค เพื่อการแก้ปัญหาอย่างตรงจุด” รศ.น.สพ.ดร.ศุภชัย อธิบายเพิ่มเติม

ทีมวิจัยได้ทำการเก็บตัวอย่างเนื้อสุกรทั้งพื้นที่กรุงเทพมหานครและส่วนภูมิภาค ได้แก่ กลุ่มจังหวัดภาคเหนือ (น่าน เชียงใหม่ และพะเยา) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ขอนแก่น และ มุกดาหาร) ภาคกลาง (สระบุรี และ นครปฐม) และภาคใต้ (พังงา) ทั้งจากโรงเชือดและแหล่งค้าปลีก ทั้ง ตลาดสด  ตลาดนัด แผงค้า รถเข็น และ ตลาดทันสมัย (Modern market) โดยใช้การประเมินความเสี่ยง 4 ขั้นตอน ได้แก่

  • การระบุอันตราย (Hazard identification) เพื่อศึกษาพฤติกรรมต่าง ๆ ของเชื้อ
  • การอธิบายอันตราย อันตราย (Hazard characterization) เพื่อประเมินความน่าจะเป็นว่ามีโอกาสป่วยมากน้อยแค่ไหน เมื่อมีการรับเชื้อก่อโรค
  • การประเมินการสัมผัส (Expose assessment) ว่าได้เชื้อมากน้อยแค่ไหน ขึ้นกับปัจจัย 2 หลักคือ ปริมารการบริโภค และความเข้มข้น หรือ ปริมาณเชื้อที่อยู่ในอาหาร
  • การอธิบายความเสี่ยง (Risk characterization) เพื่อประเมินความเสี่ยง หรือโอกาสป่วยจากการบริโภคเนื้อสุกรจากแหล่งนั้น ๆ ซึ่งจะมีการจำลองเหตุกาณ์ซ้ำอย่างต่ำ 10,000 รอบ

จากงานวิจัยแม้จะไม่ปรากฏการปนเปื้อนเชื้อสายพันธุ์ก่อโรคก็ตาม แต่ถ้าหากพิจารณาในกรณีที่เลวร้ายที่สุด (Worst case scenario) พบว่าค่าประมาณความเสี่ยงของผู้ป่วยจาก S.suis และเป็นโรคไข้หูดับผ่านการบริโภคเนื้อสุกรนั้น ประชากรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีความเสี่ยงสูงสุดอยู่ที่ 13 คน (ต่อประชากร 100,000 คน/ปี) ตามมาด้วยภาคกลาง 6 คน (ต่อประชากร 100,000 คน/ปี), ภาคเหนือ 1 คน (ต่อประชากร 100,000 คน/ปี)  และภาคใต้น้อยสุดที่ 0.1 คน (ต่อประชากร 100,000 คน/ปี) ซึ่งเมื่อลองคำนวณจากจำนวนประชากรของไทยแล้ว จะพบว่าความเสี่ยงของผู้ป่วยที่มีโอกาสติดเชื้อและเป็นโรคไข้หูดับผ่านการบริโภคเนื้อหมูนั้นมีจำนวนหลักร้อยถึงหลักพันคนในแต่ละปี อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงดังกล่าวมาจากการจำลองเหตุการณ์ และใช้ข้อมูลบางส่วนจากเชื้ออื่นข้างเคียง ดังนั้นจำเป็นต้องมีการทำวิจัยเพิ่มเติมเชิงลึกต่อไป เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องและแม่นยำมากขึ้น

รศ.น.สพ.ดร.ศุภชัย กล่าวว่า “ตัวเลขที่ได้ทำให้สังคมเห็นความสำคัญในการป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับผู้บริโภค เนื่องจากเนื้อหมูเป็นอาหารที่คนไทยนิยมรับประทาน โดยประเด็นความปลอดภัยทางด้านอาหารต้องอาศัยการทำงานร่วมกันจากหลายภาคส่วน ตัวผู้บริโภคเองพึงบริโภคผลิตภัณฑ์สุกรที่ผ่านความร้อนหรือสุกทั่วถึงกัน ใส่ใจสุขอนามัยส่วนตัว (Personal hygiene) เป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากเป็นปัจจัยที่ควบคุมได้เอง โดยใช้หลักง่ายๆ ในการรับประทานอาหาร คือ กินร้อนช้อนกลาง และ เก็บอาหารร้อนให้ร้อน เก็บอาหารเย็นให้เย็น (Keep hot food hot – keep cold food cold) เช่น แกงควรอุ่นให้ร้อนพอเป็นระยะๆ นมเปรี้ยวหรือโยเกิร์ตควรใส่ตู้เย็น เป็นต้น”

นอกจากประเด็นเรื่องไข้หูดับแล้ว ทางหน่วยปฏิบัติการวิจัย “ศูนย์ความเสี่ยงอาหาร” ก็ยังมีงานวิจัยด้านความเสี่ยงอาหารอื่นๆ ที่มุ่งเน้นบทบาทการประเมินความเสี่ยง และให้ข้อเสนอแนะด้านการจัดการความเสี่ยงตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงผู้บริโภค และการสื่อสารความเสี่ยงแก่องค์กรที่เกี่ยวข้องด้วย

ทั้งนี้การประเมินความเสี่ยงนั้นเป็นการสื่อสารจากปลายทาง คือ จะเกิดผลอะไรหากปัญหานั้นไม่ถูกแก้ไข หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องมีการตรวจย้อนตั้งแต่ต้นทางเพื่อแก้ปัญหานั้นๆ โดยเฉพาะปัจจุบันมีโรคจากสัตว์สู่คนที่มีบทบาทต่อสุขภาพคนมากขึ้น การเลี้ยงสัตว์นั้นมีความเชื่อมโยงกับสิ่งแวดล้อมแต่เชื่อมโยงต่อมาถึงคนเป็นสามประสาน แนวทางการจัดการเรื่องสุขภาพคนให้มีประสิทธิภาพจึงควรพิจารณาสุขภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพสัตว์ซึ่งส่วนหนึ่งก็กลายมาเป็นอาหารคนด้วย เพื่อนำสู่การมีสุขภาพที่ดีโดยองค์รวม

Political News