สำนักข่าวไทยไทม์นิวส์ • ThaitimeNews
loader
Foto

ผสานองค์ความรู้เก่าใหม่...เพิ่มมูลค่าไผ่ เพิ่มรายได้ให้คนน่าน

ทุนพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ขุมชนเป็นฐาน กสศ.

ภาพเขาหัวโล้นในจังหวัดน่าน อาจเป็นภาพชินตาของใครหลาย ๆ คน

และสำหรับ เรืองเดช จอมเมือง ภาพนี้เปรียบเสมือนเครื่องหมาย ‘ตีตรา’ ว่าคนเมืองน่านทำลายป่าไม้ ทำลายสิ่งแวดล้อม 

ภาพนี้ได้ฝังลึกอยู่ในจิตใจของเขา จนเรืองเดชตั้งเป้าหมายว่า หากมี ‘โอกาส’ เขาจะพยายามสร้างภาพจำแบบใหม่ให้คนทั่วไปรับรู้ว่า คนเมืองน่านพยายามแก้ไขปัญหานี้อยู่

เมื่อ ‘โอกาส’ มาถึง เรืองเดช จึงขอรับการสนับสนุนจากทุนพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ทำโครงการไผ่กับการพัฒนาทักษะอาชีพสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนท้องถิ่นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ศิลาแลง ตำบลศิลาแลง อำเภอปัว จังหวัดน่าน เนื่องจากในพื้นที่ตำบลศิลาแลง จังหวัดน่าน มีพื้นที่ปลูกไผ่อยู่ประมาณ 7-8 พันไร่ ส่วนใหญ่เป็นไผ่รวก แต่มักเป็นการปลูกแล้วขาย ไม่มีการแปรรูป

นอกจากนี้ยังมีไผ่ซางหม่น ที่ภาครัฐแนะนำให้ปลูกบนดอยสู เพื่อแก้ไขปัญหาเขาหัวโล้น ป้องกันปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง น้ำเสีย แต่กลับขายได้ในราคาต่ำ เนื่องจากเข้าไม่ถึงช่องทางการตลาด ประกอบกับพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ และสภาพดินฟ้าอากาศไม่เอื้ออำนวย รายได้จากไผ่ที่เคยตั้งไว้ว่าจะได้เป็นกอบเป็นกำก็เหลือน้อยนิด จนไม่พอเลี้ยงดูครอบครัว

เพิ่มมูลค่าไผ่ เพิ่มรายได้ให้คนในชุมชน

เรืองเดช บอกว่า ตอนนี้น่านกำลังประสบปัญหามากมาย ทั้งความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สินค้าท้องถิ่นไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่ทางการตลาด รวมถึงปัญหาเชิงสิ่งแวดล้อมระยะยาว เช่น ภูเขาหัวโล้น ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง น้ำเสีย ส่งผลกระทบกับผู้อยู่อาศัยในจังหวัดน่าน และจังหวัดอื่น ๆ เขาจึงอยากใช้ความรู้เรื่องไผ่ที่เขามีอยู่มาสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนตำบลศิลาแลง โดยมีเป้าหมายลึก ๆ ที่อยู่ในใจ คือ ลดพื้นที่เขาหัวโล้นและการทำไร่เลื่อนลอยด้วยการปลูกไผ่แทน

“ตอนแรกที่คิดทำโครงการ ผมมีการพูดคุยกับแกนนำชาวบ้านว่าเราจะสามารถ ‘เพิ่มมูลค่าต้นไผ่’ ได้อย่างไรบ้าง ชวนกันค้นหาประโยชน์จากไผ่ จนพบว่า ไผ่มีคุณสมบัติหลากหลาย ไผ่ 1 กอ สามารถสร้างประโยชน์ได้หลายด้าน 1. ด้านอาหาร เช่น หน่อไม้ 2. ด้านเศรษฐกิจ  3. ด้านการใช้สอย และ 4. ด้านสิ่งแวดล้อม หากชักชวนชาวบ้านปลูกไผ่นอกจะมีรายได้เพิ่มขึ้นแล้วยังช่วยลดรายจ่ายด้านอาหารได้อีกด้วย”

เมื่อเห็นข้อดีของไผ่ว่า น่าจะช่วยสร้างมั่นคงด้านเศรษฐกิจให้กับคนตำบลศิลาแลงได้ เรืองเดชในนามกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ศิลาแลง  จึงชักชวนกลุ่มเป้าหมายที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสในพื้นที่จำนวน 100 ครัวเรือนเข้ามาฝึกทักษะอาชีพเพื่อเพิ่มมูลค่าให้ต้นไผ่ในรูปแบบต่าง ๆ ดังนี้ 1.แปรรูปไผ่รวก ไผ่ซางหม่น ไผ่ซางนวล เป็นเฟอร์นิเจอร์ เช่น เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ราวตากผ้า ฯลฯ 2. นวัตกรรมบ่อแช่น้ำยาไผ่จากภูมิปัญญาชาวบ้าน 3. การทำถ่านไม้ไผ่ด้วยเตาคุณภาพสูง เป็นถ่านกัมมันต์ หรือถ่านอัดแท่ง ซึ่งชาวบ้านทั่วไปสามารถผลิตเพื่อสร้างรายได้ให้กับตนเองและครอบครัว 4. การเพาะชำกล้าไผ่

“เท่าที่ผมได้พูดคุยกับกลุ่มชนเผ่าต่าง ๆ บอกว่าหากไผ่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนได้จริง ๆ พวกเขายินดีที่นำกล้าไผ่ที่ชาวบ้านเพาะไปปลูกบนเขาหัวโล้นหรือปลูกทดแทนการทำไร่เลื่อนลอย ซึ่งผลลัพธ์สุดท้ายที่จะตามมาคือ ปัญหาภูเขาหัวโล้นหรือปัญหาสิ่งแวดล้อมของเมืองน่านคงจะคลี่คลายลงบ้างไม่มากก็น้อย”

ผสานความรู้ใน+นอกชุมชน...สร้างมูลเพิ่มไผ่

แต่กระนั้น เรืองเดชก็ยอมรับว่า การจะเดินไปให้ถึงหมุดหมาย 4 ประการนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีบางเรื่องที่เขาเองก็ยังขาดความรู้ ซึ่งเป็นโอกาสดีที่มีทีม กสศ. ชักชวนเจ้าหน้าที่จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เข้ามาเยี่ยมชมโครงการ ให้ได้รู้ว่า ยังมี ‘องค์ความรู้’ อีกมากมายที่สามารถเพิ่มมูลค่าไผ่ให้สูงยิ่งขึ้น เช่น เทคโนโลยีการเผาถ่านไม้ไผ่ให้ได้ถ่านคุณภาพสูง หรือแม้การออกแบบผลิตภัณฑ์ไม้ไผ่ให้ทันสมัย แปลกตา ส่งผลให้สามารถจำหน่ายผลิตภัณฑ์ไผ่ได้ในราคาที่สูงกว่าเดิม

“จริง ๆ ทาง มจธ.ก็ทำงานอยู่ในพื้นที่จังหวัดน่านมานานหลายสิบปี เขามีองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีใหม่ ๆ หลายอย่าง ดีใจที่วันนี้ได้มีโอกาสรู้จักกัน แม้ภาพการถ่ายทอดความรู้จะยังไม่เป็นรูปธรรมชัดเจน แต่การเข้ามาของ มจธ.ในวันนี้ก็ทำให้ผมเห็นแนวทาง และเห็นโอกาสในการเพิ่มมูลค่าไผ่มากขึ้น”

ด้าน ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ที่ปรึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และ ที่ปรึกษากองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)  กล่าวว่า มจธ.ทำงานในพื้นที่อำเภอบ่อเกลือและอำเภอเฉลิมเกียรติมาตั้งแต่ปี 2542 โดยการทำงานได้ยึดหลักแนวคิดที่ว่า ชุมชนต้องมีความเข้มแข็งจากภายใน พัฒนาประชาชนเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง มีสัมมาชีพ และขยายผลไปสู่ชุมชนแวดล้อมเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยน้อมนำปรัชญาการทำงานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ‘เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา’ มาใช้เป็นแนวทางในการทำงาน ซึ่งสอดคล้องกับการทำงานของทุนพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน ของ กสศ.

การเข้าถึง ‘พื้นที่’ และ ‘กลุ่มเป้าหมาย’ ของโครงการ การทำงานประสานกับหน่วยงานหรือองค์กรชุมชน ท้องถิ่น ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงภาคประชาสังคมหลากหลายส่วนในแต่ละพื้นที่ หัวใจสำคัญ คือ หน่วยงานและองค์กรเหล่านี้ต้องไม่ใช่ ‘คนแปลกหน้า’ แต่มีความสัมพันธ์กับชุมชนท้องถิ่นอยู่แล้วเป็นทุนเดิม ไม่ว่าจะเป็นสถาบันการศึกษา เช่น วิทยาลัย มหาวิทยาลัย หรือศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) องค์กรพัฒนาเอกชน และหน่วยงานของรัฐ เช่น สำนักงานพัฒนาสังคม และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ต้องเข้ามาร่วมมือในการค้นหาพื้นที่ กำหนดขอบเขตโจทย์การพัฒนาให้สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย ตามบริบทของแต่ละพื้นที่อย่างชัดเจน แล้วร่วมกันสร้างพื้นที่ที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน (Community-Based) เพื่อพัฒนาทักษะแรงงานของคนในชุมชนและยกระดับการประกอบอาชีพ  เพื่อ ‘สร้างคน และ ‘สร้างอาชีพ’

กล่าวคือ คนได้พัฒนาความรู้ ทักษะ และกระบวนการคิด เป็นการติดอาวุธให้กับกลุ่มเป้าหมาย ควบคู่ไปกับการพัฒนาอาชีพบนฐานทุนที่มีอยู่แล้วในชุมชน กระบวนการเรียนรู้และพัฒนาเป็นได้ทั้งการการพัฒนาอาชีพเพื่อลดค่าใช้จ่ายการบริโภคภายในครัวเรือน (เศรษฐศาสตร์ในครัวเรือน) หรือเพื่อสร้างสรรค์งานบริการและผลิตภัณฑ์ที่ก่อให้เกิดรายได้ การสร้างคนและสร้างอาชีพจะนำไปสู่การพึ่งพาตนเอง การพัฒนาคุณภาพชีวิตและชุมชนอย่างยั่งยืนได้ในระยะยาว

ด้วยเหตุนี้ โมเดลหรือแนวทางการดำเนินงานในโครงการฯ จึงไม่ได้มีเพียงคำตอบเดียว และไม่มีความแน่นอนตายตัว แต่มี ‘ความยืดหยุ่น’ ปรับเปลี่ยนไปตามสภาพพื้นที่ โดยโครงการฯ นี้ได้เข้าไปเสริมสร้างสมรรถนะให้แก่ชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอก จับคู่หน่วยงาน เชื่อมโยงให้เกิดการบูรณาการร่วมกันในแต่ละภาคส่วนเพื่อเป็นเจ้าภาพทำงานร่วมกับชุมชน ดังเช่นการจับคู่ มจธ.กับโครงการไผ่กับการพัฒนาทักษะอาชีพสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนท้องถิ่นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ศิลาแลง ตำบลศิลาแลง อำเภอปัว จังหวัดน่าน

กล่าวได้ว่าโครงการไผ่กับการพัฒนาทักษะอาชีพสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนท้องถิ่น ไม่ใช่โครงการที่ถูกคิดขึ้นโดยผิวเผิน หากได้รับการจุดประกายผ่านประสบการณ์และการวิเคราะห์ผ่านสายตาของบุคลากรซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่โดยตรง ตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มเป้าหมายพ่วงด้วยองค์ความรู้เกี่ยวกับบริบทของชุมชน อันจะนำไปสู่การสร้างทักษะอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐานได้อย่างสมบูรณ์

Political News