สำนักข่าวไทยไทม์นิวส์ • ThaitimeNews
loader
Foto

สมาคมเพื่อนชุมชน ยกระดับ 8 วัดเชิงนิเวศ แหล่งท่องเที่ยวใหม่ ต้นแบบวิถีชุมชนเมืองระยอง

สมาคมเพื่อนชุมชน ยกระดับ 8 วัด ใน จ.ระยอง สู่วัดเชิงนิเวศ (Eco Temple) ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ด้วยเกณฑ์ 5 ด้าน ได้แก่ ความสะอาดและความเป็นระเบียบ พื้นที่สีเขียว การจัดการสิ่งแวดล้อม กิจกรรมรณรงค์ส่งเสริมความรู้ด้านสุขอนามัยและสิ่งแวดล้อม และ การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน พร้อมผลักดันเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้วิถีชุมชนและสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ของระยอง

นายมนชัย รักสุจริต ผู้จัดการสมาคมเพื่อนชุมชน กล่าวว่า จังหวัดระยองมีแหล่งท่องเที่ยวที่หลากหลาย รวมถึงวัด ซึ่งไม่ใช่เพียงศาสนสถานเท่านั้น แต่สมาคมเพื่อนชุมชน และหน่วยงานรัฐในท้องถิ่น พยายามผลักดันให้เป็นวัดเชิงนิเวศ (Eco Temple) ตามแนวทางการพัฒนาศักยภาพการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

นายมนชัย กล่าวต่อว่า สมาคมเพื่อนชุมชน ได้ทำหน้าที่เผยแพร่ความรู้ในการเปลี่ยนแปลงและพัฒนา รวมทั้งเป็นสื่อกลางประสานงานระหว่าง วัด ชุมชน โรงงาน และองค์กรภาครัฐ ให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลง เพื่อยกระดับเป็นวัดเชิงนิเวศ นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของสังคมโดยรวม ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Town) ผ่าน “โครงการเพิ่มพื้นที่สีเขียว และการจัดการสิ่งแวดล้อมในวัด จ.ระยอง” โดยวัดที่ผ่านเกณฑ์การจัดการสิ่งแวดล้อม มีทั้งหมด 8 วัด ได้แก่...

1.วัดตะเคียนทอง ตั้งอยู่ ต.แกลง อ.เมืองระยอง จ.ระยอง ได้รับรางวัลเกณฑ์ ดีเยี่ยม

2.วัดกรอกยายชา ตั้งอยู่ ต.เนินพระ อ.เมือง จ.ระยอง ได้รับรางวัลเกณฑ์ ดีเยี่ยม

3.วัดหนองสนม ตั้งอยู่ ต.เนินพระ อ.เมืองระยอง จ.ระยอง ได้รับรางวัลเกณฑ์ ดีเยี่ยม

4.วัดเขาไผ่ ตั้งอยู่ ต.ทับมา อ.เมืองระยอง จ.ระยอง ได้รับรางวัลเกณฑ์ ดีเยี่ยม

5.วัดโขดหิน ตั้งอยู่ ต.เนินพระ อ.เมืองระยอง จ.ระยอง ได้รับรางวัลเกณฑ์ ดีเยี่ยม

6.วัดหนองแฟบ ตั้งอยู่ ต.มาบตาพุด อ.เมืองระยอง จ.ระยอง ได้รับรางวัลเกณฑ์ ดีมาก

7.วัดตากวน ตั้งอยู่ ต.มาบตาพุด อ.เมืองระยอง จ.ระยอง ได้รับรางวัลเกณฑ์ ดีมาก

8.วัดห้วยโป่ง ตั้งอยู่ ต.ห้วยโป่ง-มาบตาพุด อ.เมืองระยอง จ.ระยอง ได้รับรางวัลเกณฑ์ ดี

วัดเหล่านี้ได้รับการเสนอชื่อจากสมาคมเพื่อนชุมชนและเครือข่าย เพื่อเข้ารับการประเมินใน 5 ด้าน โดย กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดังนี้

1 ความสะอาดและความเป็นระเบียบ อาทิ ติดตั้งแผนผังการใช้พื้นที่วัด และจัดแบ่งการใช้พื้นที่ภายในวัดเป็นสัดส่วน มีการดูแลรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของศาลาการเปรียญ อุโบสถ กุฏิ ที่จอดรถ ห้องครัว ห้องน้ำ และลานวัด เป็นต้น หรือจัดให้มีตู้เก็บสิ่งของที่แยกเป็นหมวดหมู่ตามประเภทการใช้งานอย่างชัดเจน รวมทั้งแยกประเภทห้องน้ำชาย หญิง คนพิการ และผู้สูงอายุ เป็นต้น

2 พื้นที่สีเขียว วัดควรมีการปลูกต้นไม้ เช่น ไม้ยืนต้น ไม้พุ่ม ไม้ดอก ไม้กระถาง รวมถึงพืชท้องถิ่น สมุนไพร ผักพื้นบ้าน พร้อมดูแลรักษาต้นไม้และพื้นที่สีเขียวอยู่เป็นประจำเพื่อสร้างความร่มรื่นและความสวยงามภายในวัด และจะต้องเป็นแหล่งเรียนรู้การอนุรักษ์ให้แก่ชุมชนด้วย

3 การจัดการสิ่งแวดล้อม โดยแบ่งเป็นการจัดการด้านมลพิษ ตามหลัก 3R ได้แก่ ลดการใช้ ใช้ซ้ำ และนำกลับมาใช้ใหม่ และการจัดการสุขอนามัยและความปลอดภัย อาทิ การควบคุมสัตว์ในวัด ไม่นำสัตว์มาเลี้ยงในกุฏิ อาคารที่พัก ดูแลรักษาความสะอาดสัตว์ กรง ภาชนะใส่อาหารให้สะอาดอยู่เสมอ นอกจากนี้ยังมีประเด็นอื่นๆ อีกเช่น เปลี่ยนน้ำในภาชนะใส่น้ำทุกวัน ติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันเพลิงไหม้ ปรับปรุงเสนาสนะ ถนน ทางเดินเท้าให้มีความปลอดภัยและลดอุบัติเหตุ เป็นต้น

4 กิจกรรมรณรงค์ส่งเสริมความรู้ด้านสุขอนามัยและสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความตระหนักรู้และเป็นตัวอย่างให้ศาสนิกชน เช่น การใช้ธูปเทียนไฟฟ้าแทนการจุดธูปเทียนเพื่อลดมลพิษ หรือเปลี่ยนจากการใช้พวงหรีดดอกไม้สดหรือพวงหรีดพลาสติกและโฟม เป็นสิ่งที่ใช้ซ้ำได้ อาทิ พัดลม ผ้าห่ม หรือพวงหรีดเวียน เป็นต้น

และ 5 การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน วัดควรมีกิจกรรมเพื่อเป็นศูนย์กลางการพัฒนาสิ่งแวดล้อมชุมชน และให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการสิ่งแวดล้อมในวัด ตามแนวทางที่เรียกกว่า “บวร” (บ้าน วัด โรงเรียน) เช่นการเทศนาสอดแทรกปัญหามลพิษและภัยพิบัติ เพื่อให้ประชาชนทราบและมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา

“สิ่งที่ สมาคมเพื่อนชุมชน คาดหวังคือ เมื่อศาสนิกชนมาเยือน นอกจากจะได้สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์และกิจกรรมทางศาสนาเพื่อเป็นสิริมงคลแล้ว ยังเป็นการสร้างความสมดุลระหว่างธรรมชาติกับศาสนิกชน โดยการเพิ่มพื้นที่สีเขียวพร้อมปลูกฝังจิตสำนึกที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมให้แก่ชุมชนและนักท่องเที่ยว รวมถึงกระจายรายได้สู่ชุมชน ซึ่งเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนอีกทางหนึ่ง” นายมนชัย กล่าว

พระมหายุทธนา ธมฺมวํโส เจ้าอาวาสวัดหนองสนม และเจ้าคณะตำบลทับมา กล่าวว่า เมื่อเข้าร่วมโครงการฯ ทางวัดใช้เวลาประมาณ 6 เดือนในการจัดการและสร้างความเข้าใจให้กับพระ เณร คณะกรรมการวัด ตลอดจนญาติโยมในชุมชน ช่วงแรกอาจมีอุปสรรคบ้าง อย่างการจุดธูปเทียนที่เป็นความเคยชินของพุทธศาสนิกชน ทางวัดก็ช่วยกันประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านทราบว่าควันธูปนั้นมีอันตรายต่อสุขภาพ หรือการคัดแยกขยะอย่างเป็นระบบ เศษขยะจำพวกใบไม้ที่แต่เดิมเคยเผาแล้วกลายเป็นมลพิษนั้น ปัจจุบันก็ได้จัดการนำไปทำเป็นปุ๋ยใบไม้ ซึ่งสามารถใช้ประโยชน์ได้ภายในวัดและยังแจกจ่ายให้กับชาวบ้านในชุมชนได้อีก

ความสำเร็จที่เกิดขึ้น เกิดจากความร่วมมือ คำแนะนำ และการระดมความคิดจากหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นสมาคมเพื่อนชุมชน วัด ชาวบ้าน ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะเมื่อวัดพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น ก็เป็นความภาคภูมิใจของชุมชน และมีตัวแทนจากวัดในต่างพื้นที่มาศึกษาดูงาน เพราะนอกจากเป็นสถานที่สำคัญทางศาสนา สถานที่ท่องเที่ยว เรายังเป็นศูนย์เรียนรู้และแหล่งต้นแบบในการดำเนินชีวิตของวิถีชุมชนอีกด้วย พระมหายุทธนา กล่าวทิ้งท้าย

 

 

Political News