สำนักข่าวไทยไทม์นิวส์ • ThaitimeNews
loader
Foto

ปฏิรูปการศึกษาต้องแก้กฎหมายลดความเหลื่อมล้ำ

คณะกรรมการปฏิรูปการศึกษา ทำแผนยกระดับการศึกษาไทย วางกรอบพัฒนาทั้งคุณภาพครู หลักสูตร และมาตรฐานการเรียนการสอน เสนอตั้งกองทุนเพื่อความเสมอภาคด้านการศึกษา วงเงิน 2.5 หมื่นล้านบาท ช่วยคนได้รับการศึกษาทั่วถึง

ศาสตราจารย์กิตติคุณนพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานกรรมการคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษากล่าวถึงแผนปฏิรูปด้านการศึกษาว่าเป็นสิ่งจำเป็น เนื่องจากผลการเปิดรับความคิดเห็นพบว่าการศึกษาไทยวิกฤตอย่างรุนแรง ขาดคุณภาพ มีความเหลื่อมล้ำ และคุณภาพการศึกษาไทยต่ำมาก ดูจากการสอบโอเนตมีนักเรียนเข้าสอบกว่า ๓ แสนคน สอบได้คะแนนคณิตศาสตร์ 24% ภาษาไทย 52% และยังพบว่าเด็กจบม.3 ที่ไม่เรียนต่อออกกลางคันอีก 6 หมื่นคนต่อปี ในขณะที่คนจบม.3 ก็ยังเป็นแรงงานไร้ฝีมือ การศึกษาไทยไม่ได้สร้างแรงงานมีฝีมือ ถือว่าต่ำกว่ามาตรฐานโลกจึงจำเป็นต้องปฏิรูป

            ความคืบหน้าในแผนปฏิรูปการศึกษา เริ่มจากการตั้งคณะทำงานขึ้นมาเป็นรูปธรรม โดยคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ได้รับการแต่งตั้งเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2560 ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการชุดนี้มีระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี จะสิ้นสุดวันที่ 29 พฤษภาคม 2562 ซึ่งคณะกรรมการฯจะต้องจัดทําข้อเสนอแนะและร่างกฎหมายให้แล้วเสร็จ นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีภายในสองปีนับแต่วันที่ได้รับการแต่งตั้ง เพื่อวางแผนปฏิรูปด้านการศึกษา

การศึกษาต้องสร้างคนดีให้สังคม

            โดยตั้งเป้าหมายว่า การศึกษาทั้งหมดต้องมุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ สามารถเชี่ยวชาญได้ตามความถนัดของตน และมีความรับผิดชอบต่อครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ อ้างอิงแผนปฏิรูปการศึกษา ตามมาตรา 258 ในรัฐธรรมนูญ กำหนดให้ดําเนินการปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ ให้เกิดผล โดยเฉพาะด้านการศึกษา ต้องส่งเสริมให้เด็กเล็กได้รับการดูแลและพัฒนาก่อนเข้ารับการศึกษา ตามมาตรา 54 วรรคสอง เพื่อให้เด็กเล็กได้รับการพัฒนาร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาให้สมกับวัยโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย และให้ดำเนินการตรากฎหมายเพื่อจัดตั้งกองทุนตามมาตรา 54 วรรคหก ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้

            นอกจากนี้ ต้องมีกลไกและระบบการผลิตคัดกรองและพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครูและอาจารย์ ให้ได้ผู้มีจิตวิญญาณของความเป็นครู มีสมรรถนะ และทักษะในการเป็นครู มีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริง ได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับความสามารถและประสิทธิภาพในการสอน รวมทั้งมีกลไกสร้างระบบคุณธรรมในการบริหารงานบุคคลของผู้ประกอบวิชาชีพครู

           “ปัจจุบันความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไทยสูงมาก” ศาสตราจารย์กิตติคุณนพ.จรัส กล่าวและว่า โรงเรียนที่มีการเรียนการสอนได้ผลสัมฤทธิ์ด้านคุณภาพ ในระดับสากล ที่สามารถแข่งขันได้มีจำกัด โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ และโรงเรียนวิทยาศาสตร์ที่มีการจัดการเป็นพิเศษ และโรงเรียนขนาดใหญ่ในเมือง สามารถพัฒนานักเรียนให้สอบได้คะแนนสูงเท่ากับที่สิงคโปร์  โรงเรียนสาธิตต่างๆ ได้ผลคะแนนอยู่ที่คาบเส้นเท่ากับค่าเฉลี่ยทั่วโลก ส่วนโรงเรียนส่วนใหญ่ของไทย ยังได้ผลต่ำกว่าอย่างมาก  ส่วนที่น่าสนใจ คือโรงเรียนที่เข้าเกณฑ์มาตรฐานเหล่านี้ล้วนไม่ทำตามกฎเกณฑ์หรือหลักสูตรที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด แต่จัดการเรียนการสอนด้วยหลักสูตรของตนเอง และใช้อาจารย์มหาวิทยาลัยมาสอน จึงมีมาตรฐานที่ดีกว่า

          ตัวอย่างความเหลื่อมล้ำอีกอย่างที่พบในการศึกษา คือนักเรียนที่จะสอบเข้าเรียนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ต้องมาเรียนชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนในกรุงเทพฯ ผู้ที่จบการศึกษาจากต่างจังหวัดมีโอกาสน้อยมาก แสดงถึงความแตกต่างของคุณภาพการศึกษา อันเป็นความเหลื่อมล้ำที่ชัดเจน   ในอีกแง่หนึ่งคนยากจนในชนบทส่งลูกเข้าเรียนด้วยความหวังว่าลูกจนได้เรียนสูงขึ้นและพ้นความยากจนได้   แต่ในความเป็นจริง คุณภาพโรงเรียนในท้องถิ่นไม่ดีพอที่จะทำให้นักเรียนไปเรียนต่อ จึงไม่สามารถพ้นสภาพความยากจน    การที่สังคมไม่เอื้อให้คนยากจนสามารถดูแลตัวเองได้ และสามารถพัฒนาให้ลูกพ้นความยากจนได้ เป็นอีกปัญหาที่พบในปัจจุบัน

            การปฏิรูปการศึกษา ต้องปรับปรุงการจัดการเรียนการสอนทุกระดับเพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนได้ตามความถนัดและปรับปรุงโครงสร้างของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว โดยสอดคล้องกันทั้งในระดับชาติและระดับพื้นที่

เร่งแก้ไขกฎหมายสำคัญด้านการศึกษา

            ความสามารถในการแข่งขันของชาติไทยเราได้ที่ 27 มาหลายปีแล้ว ประเทศไทยมีทุกอย่างที่พร้อม โดยเป็นอิสระมา 700 ปี เรามีวัฒนธรรม มีสถาบันดี แต่เราแพ้เพราะคุณภาพการศึกษาไม่ดี มีความเหลื่อมล้ำ ไทยเราแพ้มาเลเซีย และวันนี้เวียดนามก็กำลังจะแซงไปข้างหน้า ก่อนหน้านี้เมื่อ 30 ปีก่อนมาเลเซียส่งคนมาดูงานการศึกษาไทยให้ไทยสอน แต่ตอนนี้เขาแซงไทยไปไกลแล้ว

          การปฏิรูปการศึกษาจำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายโดยการยกร่างพ.ร.บ.การศึกษาใหม่ ลงไปแก้ไขในจุดต่างๆ และพ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคด้านการศึกษา ซึ่งผ่านสภานิติบัญญัติไปแล้ว รอลงพระปรมาภิไทย วงเงิน 2.5 หมื่นล้าน เพื่อลงไปช่วยประชาชนเข้าไม่ถึงการศึกษา รวมทั้งผู้ที่หลุดจากระบบการศึกษา มีคณะกรรมการขึ้นมารับผิดชอบตรวจสอบการใช้เงินให้สำเร็จ

กฎหมายอีกฉบับ คือร่างพ.ร.บ.การอุดมศึกษาแห่งชาติ ได้เสนอรัฐบาลไปแล้วว่าจำเป็นต้องปรับปฏิรูปอุดมศึกษา ถ้าเราจะเป็นประเทศไทย 4.0 มหาวิทยาลัยก็ต้องเป็น 4.0 แต่ทุกวันนี้ยังไม่ค่อยปรับตัวเท่าที่ควร

กฎหมายด้านการศึกษาอีกฉบับที่ต้องแก้ไขเพื่อปฏิรูปการศึกษา คือร่างพ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัย ซึ่งร่างเสร็จแล้ว เตรียมเสนอรัฐบาล   เนื่องจากเด็กตั้งแต่อยู่ในท้องถึง 8 ขวบ เป็นช่วงวัยพัฒนาการที่สำคัญ ต้องให้ความสำคัญพัฒนาการเด็กในช่วงแรกเกิดจนถึง ๘ ปี

นอกจากนี้ การปฏิรูปการศึกษาได้โรงเรียนยุคใหม่ต้องมีความเป็นอิสระ 4 อย่าง 1.อิสระเรื่องของการบริหารวิชาการ 2.อิสระเรื่องบริหารการเงิน 3.อิสระเรื่องบริหารบุคคล และ 4.อิสระในการบริหารทั่วไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Political News