สำนักข่าวไทยไทม์นิวส์ • ThaitimeNews
loader
Foto

‘ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล’รุกขยายพอร์ตกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสมดุลตามอายุ เตรียมเปิดตัวบริการใหม่

บลจ.ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล รุกขยายฐานลูกค้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เตรียมเปิดตัวบริการใหม่ ‘Online Retirement Planner’ ในเว็บไซต์ พร้อมปรับโฉมเว็บไซต์พัฒนาฟังก์ชันและการใช้งานที่ง่ายขึ้น เน้นสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง ตั้งเป้าเพิ่มพอร์ตกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสมดุลตามอายุในปีนี้เป็น 6,000 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อน 50% ขณะที่หน่วยงานภาครัฐเดินหน้าร่าง พ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ สร้างวินัยการออมเงินในภาคบังคับสำหรับใช้จ่ายหลังเกษียณ หลังล่าสุดรอชงเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติในวาระที่ 1

นางปาจรีย์ บุณยัษฐิติ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานพัฒนาธุรกิจ ธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนส่วนบุคคลบริษัทหลักทรัพย์กองทุน ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล จำกัด เปิดเผยในงานเสวนา The Retirement Plan Symposium ครั้งที่ 4 ‘Smart Retirement ยุค Thailand 4.0’ ว่า ได้รุกเพิ่มศักยภาพการให้บริการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund หรือ PVD) เพื่อขยายฐานลูกค้าและสร้างความแตกต่างจากบลจ.รายอื่นๆ โดยคาดว่าภายในเดือนกรกฎาคมนี้จะเปิดตัวบริการใหม่ผ่านทางเว็บไซต์ของ บลจ.ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล ได้แก่ 1.การให้บริการติดตามความก้าวหน้าของผลการดำเนินงานกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพื่อให้สมาชิกกองทุนฯ พิจารณาปรับแผนลงทุนที่เหมาะสมกับเป้าหมายการออมเงินเพื่อการเกษียณ 2.การให้บริการ Online Retirement Planner สำหรับคำนวณเงินที่จะได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเมื่อเกษียณอายุแล้ว ซึ่งตามหลักควรมีเงินไว้ใช้จ่ายหลังเกษียณได้อีกไม่น้อยกว่า 20 ปี ในอัตราเฉลี่ยต่อเดือนที่ไม่ต่ำกว่า 50% ของเงินเดือนในเดือนสุดท้ายก่อนเกษียณ และ 3.การเปิดตัวเว็บไซต์ บลจ.ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิลโฉมใหม่ที่พัฒนาฟังก์ชันและการใช้งานที่ง่ายขึ้น เช่น สามารถเพิ่มข้อมูลเกี่ยวกับเงินออมในกองทุนประกันสังคม ข้อมูลการซื้อกองทุน LTF RMF ฯลฯ เพื่อคำนวณเงินออมสำหรับการเกษียณอายุทั้งหมด

ทั้งนี้ บลจ.ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล ได้ให้ความสำคัญการให้บริการด้านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในทุกขั้นตอน ตั้งแต่ขั้นตอนก่อนการลงทุน (PRE-INVESTMENT) โดยจะเข้าไปให้คำปรึกษาและความช่วยเหลือแก่นายจ้างในการจัดตั้งคณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้แต่ละบริษัท การออกแบบแผนการลงทุนให้แก่ลูกจ้าง การจัดอบรมให้ความรู้แก่ลูกจ้างที่เป็นสมาชิกของกองทุนฯ ซึ่งในปีนี้มีการอบรมไปแล้วกว่า 160 ครั้ง ส่วนในขั้นตอนของการลงทุน (INVESTMENT) นั้น บลจ.ซีไอเอ็มบีฯ จะยึดหลักการบริหารเงินและความเสี่ยงอย่างระมัดระวัง และในขั้นตอนหลังการลงทุน (POST-INVESTMENT) จะเน้นการให้บริการแก่สมาชิกกองทุนสามารถติดตามความคืบหน้าของผลการดำเนินงาน เพื่อปรับเปลี่ยนแผนการลงทุน หรืออัตราเงินสะสมให้สามารถบรรลุเป้าหมายในวัยเกษียณ

“เรามีเป้าหมายขยายพอร์ตมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) ของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแบบสมดุลตามอายุ หรือ Target Date Fund ที่มีจุดเด่นด้านการปรับเปลี่ยนพอร์ตการลงทุนระยะยาวให้เหมาะสมกับช่วงอายุของสมาชิกโดยอัตโนมัติ เพิ่มเป็น 6,000 ล้านบาทภายในปีนี้ หรือเติบโต 50% จากสิ้นปีที่ผ่านมาที่มีมูลค่า NAV ประมาณ 4,000 ล้านบาท โดยคาดว่าในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้จะทำได้ตามเป้าหมาย เนื่องจากปัจจุบันยังมีลูกจ้างของบริษัทเอกชนอีกเป็นจำนวนมากที่ไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ อย่างไรก็ตามสำหรับลูกจ้างที่เป็นสมาชิกกองทุนฯ เราพบว่าบางส่วนยังไม่มีการติดตามผลการดำเนินงานอย่างจริงจัง เพื่อวางแผนปรับเปลี่ยนแผนการลงทุนและอัตราการจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนฯ ที่เหมาะสมและบรรลุเป้าหมายการออมเงินไว้ใช้จ่ายหลังเกษียณอย่างเพียงพอ” นางปาจรีย์ กล่าว  

ดร.วโรทัย  โกศลพิศิษฐ์กุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า สศค.ได้ผลักดันร่างพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) เพื่อสร้างวินัยการออมเงินภาคบังคับให้แก่ประชาชนที่อยู่ในวัยทำงาน สามารถมีเงินใช้จ่ายอย่างเพียงพอในช่วงชีวิตหลังเกษียณอายุในรูปแบบการรับบำเหน็จหรือบำนาญจากกองทุนฯ ซึ่งแตกต่างจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่เป็นการออมภาคสมัครใจ โดยปัจจุบัน ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ได้ผ่านการพิจารณาจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นที่เรียบร้อย และรอการบรรจุเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติในวาระที่ 1

สำหรับเนื้อหาสาระสำคัญของร่างฯ ฉบับนี้ จะบังคับใช้กับลูกจ้างเอกชน ลูกจ้างชั่วคราวส่วนราชการ พนักงานราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจและเจ้าหน้าที่องค์การมหาชนที่มีอายุตั้งแต่ 15-60 ปี โดยลูกจ้างและนายจ้างจะต้องนำส่งเงินสะสมและเงินสมทบเข้ากองทุน ในอัตราเท่ากัน (กำหนดเพดานค่าจ้างการคำนวณเงินสะสมและเงินสมทบที่ 60,000 บาท) โดยในปีที่ 1-3 ปีที่ 4-6 ปีที่ 7-9 และตั้งแต่ปีที่ 10 เป็นต้นไป จะให้ลูกจ้างจ่ายเงินสะสมและนายจ้างจ่ายเงินสมทบฝ่ายละไม่น้อยกว่า 3% 5% 7% และไม่เกิน 10% ของค่าจ้างตามลำดับ อย่างไรก็ตามลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างต่ำกว่า 10,000 บาทต่อเดือน กำหนดให้นายจ้างเป็นผู้ส่งเงินสมทบฝ่ายเดียว โดยเมื่ออายุครบ 60 ปี ลูกจ้างจะได้รับผลตอบแทนเป็นบำเหน็จหรือบำนาญรายเดือน

ส่วนการเข้าสู่ระบบ กบช.  สำหรับกิจการเอกชนที่มีลูกจ้าง 100 คนขึ้นไป กิจการที่ได้รับสัมปทานจากรัฐ กิจการที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หน่วยงานรัฐที่อยู่ในบังคับของกฎหมาย กบช. กิจการที่ได้รับ BOI กิจการที่ต้องการเข้าระบบ กบช. เริ่มต้นตั้งแต่ปีที่ 2 นับจากกฎหมายประกาศใช้ กิจการเอกชนที่มีลูกค้าตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปเริ่มต้นตั้งแต่ปี 5 นับจากกฎหมายประกาศใช้และกิจการเอกชนที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไปเริ่มต้นตั้งแต่ปีที่ 7 นับจากกฎหมายประกาศใช้ โดยคณะกรรมการ กบช.จะเป็นผู้กำหนดนโยบายการลงทุนและคัดเลือกผู้บริหารเงินในกองทุน แต่ให้ลูกจ้างเป็นผู้เลือกแผนการลงทุน และจะมี Default Policy สำหรับสมาชิกที่ไม่เลือกนโยบายที่กองทุนจัดให้

นางสาวเนาวรัตน์ จันทวานิช ผู้อำนวยการศูนย์กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) กล่าวว่า ในขั้นตอนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ มีการแสดงความคิดเห็นถึงการบริหารจัดการกองทุนฯ ดังกล่าว ซึ่งถ้าปล่อยให้เป็นไปตามกลไกที่มีการแข่งขันกันอย่างเสรี ก็จะเกิดประโยชน์ต่อการบริหารจัดการกองทุน กบช.และมีความโปร่งใส โดยในส่วนการบริหารจัดการกองทุนฯ คงจะต้องออกเป็นกฎกระทรวงรองรับในภายหลัง หลังจากที่ร่าง พ.ร.บ.ผ่านการพิจารณาเพื่อเตรียมบังคับใช้แล้ว

นาย Vicente Corta Fernández, Director, Principal Financial Group (Mexico) กล่าวว่า เม็กซิโกเป็นหนึ่งในประเทศที่ผลักดันระบบกองทุนบำเหน็จบำนาญเพื่อให้เกิดวินัยออมเงินสำหรับการเกษียณอายุ โดยกำหนดให้เกษียณเมื่ออายุ 65 ปี และมี AFORE ที่เป็นนิติบุคคลด้านการเงินเข้ามาบริหารกองทุน โดยเม็กซิโกกำหนดให้ต้องจ่ายเงินเพื่อการออมรวมประมาณ 6.5% ของเงินเดือน ซึ่งมาจากเงินสะสมจากลูกจ้าง 1.25% เงินสมทบจากนายจ้าง 5% และเงินสมทบจากรัฐบาล 0.225%  และ ลูกจ้างอาจสมัครใจจ่ายเพิ่มอีก 5% ให้แก่กองทุนที่อยู่อาศัย (Housing Fund) เพื่อให้ได้เงินออมที่เพียงพอไว้ใช้จ่ายหลังเกษียณ โดยเงินจำนวนดังกล่าวจะมีบริษัทจัดการประมาณ 10 บริษัท ที่มีความเชี่ยวชาญเข้ามาบริหารจัดการ นำเงินไปลงทุนทรัพย์สินประเภทต่างๆ เพื่อให้มีผลการดำเนินงานที่ดี  การบริหารจัดการด้านการลงทุนเป็นแบบกระจายการบริหารโดยให้ผู้จัดการกองทุนแต่ละรายแยกกันบริหาร (Decentralized) แต่การบริหารจัดการด้านทะเบียนสมาชิกเป็นแบบรวมศูนย์ (Centralized) อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางของเม็กซิโกยังแนะนำให้เพิ่มอัตราการจ่ายเงินสะสมและเงินสมทบเป็นมากกว่า 12.5% เพื่อให้สามารถการใช้จ่ายยามเกษียณอายุได้อย่างมีความสุข

Political News