สำนักข่าวไทยไทม์นิวส์ • ThaitimeNews
loader
Foto

เปิดยุทธศาสตร์ด้านระบบบริหารจัดการภาครัฐเน้นกระชับ ลดขนาดภาครัฐ

คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ     ตั้ง 5เป้าหมาย 8 ประเด็นยุทธศาสตร์ พัฒนาหน่วยงานรัฐเป็นองค์กรกระชับ บริการฉับไว สร้างความ     พึงพอใจของประชาชนต่อการให้บริการของภาครัฐไม่น้อยกว่า 80%  จำกัดรายจ่ายบุคลากรภาครัฐไม่เกิน 30% เพื่อให้ภาครัฐมีขนาดเล็กลง แก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมลดปมปัญหารวยกระจุกจนกระจาย และแก้ปัญหาการรับรู้การทุจริตของประเทศไทยอยู่ในลำดับ 1 ใน 20

            นายพงศ์โพยม วาศภูติ ประธานกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ กล่าวว่า ในรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2560 มาตรา 35 กำหนดว่าต้องมียุทธศาสตร์ชาติเป็นเป้าหมายในการพัฒนาประเทศ สิ่งที่อยากเห็นคือหน่วยงานภาครัฐเป็นของประชาชนโดยประชาชนและเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า ระบบงานภาครัฐมีมิติในเชิงอำนาจค่อนข้างสูง  เน้นการบังคับบัญชาสั่งการ  ใครอยากทำอะไรต้องมาขอรัฐ  ถนัดควบคุม แต่ส่งเสริมคน      ไม่เป็น โดยเฉพาะภาคเอกชนมาขออนุญาตยากมาก เรื่องการบริการที่ล่าช้า ข้อมูลไม่เชื่อมโยง ไม่ดูแลธุรกิจรายเล็กรายน้อยให้เดินเร็วแข่งขันคนอื่นได้ เน้นดูแลเฉพาะธุรกิจรายใหญ่ ปล่อยให้เกิดความเหลื่อมล้ำ คนรวยกระจุกคนจนกระจาย

สิ่งที่คณะกรรมการฯอยากเห็นคือภาครัฐมีขนาดกะทัดรัดเหมาะสมกับภารกิจ มีสมรรถนะสูง           มีโครงสร้างที่ยืดหยุ่น มีขั้นตอนการบังคับบัญชาที่สั้น เปิดเผย โปร่งใส ใช้ทรัพยากรอย่างประหยัดและคุ้มค่า คณะกรรมการฯจึงกำหนด 5 เป้าหมาย 8 ประเด็นยุทธศาสตร์ เพื่อปรับสมดุลระบบบริหารจัดการภาครัฐ โดยจะบรรลุในอีก 20 ปีข้างหน้า ได้แก่ 1. สร้างความพึงพอใจของประชาชนต่อการให้บริการสาธารณะของภาครัฐไม่น้อยกว่า 80%  2. จำกัดรายจ่ายบุคลากรภาครัฐไม่เกิน 30% เพื่อให้ภาครัฐมีขนาดเล็กลง โดยลดความซ้ำซ้อนและปรับภารกิจของหน่วยงานภาครัฐให้เหมาะสม 3. เพิ่มประสิทธิภาพของภาครัฐจากการสำรวจของ IMD International Institute for Management Development อยู่ไม่ต่ำกว่าอันดับที่ 10 ของโลก โดยการนำนวัตกรรม เทคโนโลยี บิ๊กดาต้า และระบบการทำงานที่เป็นดิจิตัลมาประยุกต์ใช้ปฏิบัติงานเทียบได้กับมาตรฐานสากล 4. การรับรู้การทุจริตของประเทศไทยอยู่ในลำดับ 1 ใน 20 Corruption Perception index: CPI โดยส่งเสริมให้องค์กรภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ชุมชน และประชาชนร่วมสอดส่อง เฝ้าระวัง และตรวจสอบการดำเนินการของภาครัฐ และ 5. ดัชนีนิติธรรมทุกองค์ประกอบอยู่ในระดับสูง กระบวนการยุติธรรม การออกกฎหมาย และการบังคับใช้กฏหมายเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศ

            นายพงศ์โพยม กล่าวอีกว่า อีกประการที่ไม่อยากเห็นคือ หน่วยงานภาครัฐใช้ดุลพินิจคิดเอาเอง โดยไม่คำนึงถึงข้อมูลข้อเท็จจริง ทั้งที่ปัจจุบันเทคโนโลยีก้าวหน้าไกล เรามีระบบไอทีที่ทันสมัย มีเอไอ        มีไอโอที มีโรบอท มีบิ๊กดาต้าที่ควรเชื่อมโยงกัน ไม่ว่าจะเป็นการขออนุญาตขออนุมัติต่างๆ ขอไปที่เดียวด้วยระบบออนไลน์ จบในการขออนุญาตที่เดียว ข้อมูลเชื่อมโยงกันทุกหน่วยงาน ต้องการเอกสารเพิ่มเติม         ก็ส่งทางไปรษณีย์ไป เราอยากเห็นการทำงานที่บูรณาการประชาชนไม่ต้องรอคิวโรงพยาบาลตั้งแต่ตีสี่ตีห้า    โดยใช้ระบบเช็คอินออนไลน์ให้เป็นประโยชน์ การแจ้งเกิดแจ้งตาย ย้ายที่อยู่ก็เช่นเดียวกัน สามารถแจ้งทางออนไลน์ ระบบพวกนี้ใช้ในการบริหารงานองค์กร แก้ปัญหาได้ทุกเรื่อง

            ที่สำคัญอยากเห็นภาครัฐเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารประเทศ ช่วยคิดช่วยทำ ช่วยดูแลตรวจสอบแนะนำ สิ่งสำคัญคือบุคลากรภาครัฐเป็นคนดีคนเก่งมีสามัญสำนึกมุ่งมั่นทำงานให้เกิดประสิทธิภาพและความเป็นธรรมแก่ประชาชน ในระบบการบริหารงานบุคลากรภาครัฐ ยึดระบบยืดหยุ่นดึงคนมีความรู้ความสามารถเข้ามาในระบบราชการ มีขวัญกำลังใจมีค่าตอบแทน มีสวัสดิการที่ดี ไม่แสวงหาผลประโยชน์ในทางมิชอบ มีระบบป้องกันและปราบปรามคนทำผิด เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบร้องเรียน โดยมีระบบคุ้มครองผู้ร้องทั้งประชาชนและข้าราชการด้วยกัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Political News