สำนักข่าวไทยไทม์นิวส์ • ThaitimeNews
loader
Foto

สมาคมประกันชีวิตไทยดึงสมาชิกร่วมจัดตั้งบริษัท เนชั่นแนลดิจิทัลไอดี จำกัด

สมาคมประกันชีวิตไทย สานต่อนโยบายภาครัฐดึงสมาชิกร่วมจัดตั้งบริษัท เนชั่นแนลดิจิทัลไอดี จำกัดเพื่อให้การดำเนินนงานพัฒนาระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล(Digital identity) ประสบความสำเร็จ มีประสิทธิภาพสามารถอำนวยความสะดวกในการเชื่อมโยงเครือข่ายในการประกอบธุรกิจแบบครบวงจร (Ease of Doing Business Report) หวังต่อยอดช่องทาง e-insurance

นางนุสรา (อัสสกุล) บัญญัติปิยพจน์ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย เปิดเผยว่า สมาคมประกันชีวิตไทยสนับสนุนความร่วมมือกับภาครัฐในการจัดตั้งบริษัท เนชั่นแนลดิจิทัลไอดี จำกัด ตามนโยบายของรัฐบาล 4.0 ที่ต้องการส่งเสริมให้มีดิจิทัลแพลตฟอร์ม สอดรับแผนการเชื่อมโยงเครือข่ายในการประกอบธุรกิจแบบครบวงจร ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจสามารถทำงานได้ง่ายขึ้นผ่านการมีข้อมูลที่ครบถ้วนรอบด้านมีความปลอดภัยและน่าเชื่อถือ โดยดึงบริษัทสมาชิกเข้าถือหุ้นในบริษัทดังกล่าว จำนวน 10% ซึ่งประกอบด้วยบริษัท  เอไอเอ จำกัด, บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน), บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน), บริษัท กรุงไทย แอกซ่า ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน), บริษัท ไทยพาณิชย์ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน), บริษัท กรุงเทพประกันชีวิต จำกัด (มหาชน), บริษัท อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน), บริษัทเอฟดับบลิวดี ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน), บริษัทพรูเด็นเชียล ประกันชีวิต (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน), บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน), บริษัทเจนเนอราลี่ ประกันชีวิต (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน), บริษัท ทิพยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) บริษัทโตเกียวมารีนประกันชีวิต (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน), บริษัท ฟิลลิปประกันชีวิต จำกัด (มหาชน)

สำหรับบริษัท เนชั่นแนลดิจิทัลไอดี จำกัด นั้น จะดำเนินการให้บริการเชื่อมโยงฐานข้อมูลเกี่ยวกับการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมการปกครอง กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และภาคเอกชนต่างๆ ซึ่งระบบ Digital ID Platform เป็นระบบกลางที่รองรับการยืนยันตัวตนผ่านอิเล็กทรอนิกส์ โดยการใช้ข้อมูลจากบุคคลที่ 3 (Third party) ในการพิสูจน์และยืนยันตัวตน ซึ่งจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่สามารถต่อยอดไปยังการทำธุรกรรมอื่นๆ ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น การสมัครใช้บริการการยื่นเอกสารประกอบการให้ความยินยอม การลงลายมือชื่อ เป็นต้น โดยจะมีบริษัท เนชั่นแนลดิจิทัลไอดี จำกัด เป็นหน่วยงานที่ดำเนินการเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการต่างๆ ของระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล

นอกจากนี้ระบบดังกล่าวยังสามารถดำเนินการต่อเนื่องไปจนถึงกระบวนการพิสูจน์และยืนยันตัวตน

e - KYC (Know your Customer)  ซึ่งเป็นวิธีปฏิบัติที่จะทำให้ทราบถึงกระบวนการแสดงตัวตนที่แท้จริงของลูกค้า และเป็นส่วนหนึ่งที่สถาบันการเงินต้องทำการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า (Customer Due Diligence – CDD) รวมถึงการรายงานตามกฎหมาย FATCA ( Foreign Account Tax Compliance Act ) ในการตรวจสอบและป้องกันการเลี่ยงภาษีของผู้มีรายได้สัญชาติอเมริกันที่มีแหล่งเงินได้ในต่างประเทศ

                “จากที่มีระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนอย่างชัดเจนนั้น ธุรกิจประกันชีวิตเล็งเห็นความสำคัญต่อเรื่องดังกล่าว เพราะระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนนี้ จะช่วยให้ประชาชนผู้ทำธุรกรรมต่างๆ รวมถึงการประกอบธุรกิจ มีความปลอดภัย เกิดความน่าเชื่อถือ ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนการเสนอขาย การบริการหลังการขายและการบริการด้านสินไหม ให้ได้รับการบริการที่สะดวกและรวดเร็ว ลดต้นทุนการใช้เอกสาร รวมถึงสามารถป้องกันการฉ้อฉลประกันภัย ซึ่งจะสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนผู้ใช้บริการได้ในที่สุด” นายกสมาคมประกันชีวิตไทย กล่าว

 

Political News