สำนักข่าวไทยไทม์นิวส์ • ThaitimeNews
loader
Foto

‘บ้านก้างปลา’อ.ด่านซ้าย จ.เลย หมู่บ้านต้นแบบ Smart Farmer ใช้เกษตรทางเลือก

โดย ฝ่ายการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์และสื่อสารสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.)

 “ ถ้าไม่ให้ชาวบ้านปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แล้วจะให้เขาปลูกอะไร งานวิจัยมีทางออกให้ไหม” เสียงสะท้อนของชาวบ้านกางปลาที่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำการเกษตรบนที่สูงโดยเฉพาะการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยว จากเสียงสะท้อนของชาวบ้านจึงนำมาสู่งานวิจัยในโครงการ Smart Farmer เกษตรทางเลือกและความมั่นคงทางอาหาร (2559-60) และโครงการการเพิ่มศักยภาพเกษตรกรและหมู่บ้านต้นแบบการผลิตและการตลาดสีเขียว มาตรฐานด่านซ้ายกรีนเนตฯ (2560-61) ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ปัจจุบันหมู่บ้านก้างปลากลายเป็นต้นแบบหมู่บ้าน Smart Farmer อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ที่เปลี่ยนจากการทำเกษตรปลูกพืชเชิงเดี่ยวมาเป็นการปลูกพืชผักปลอดภัย ส่งตลาดสีเขียวโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้ายและตลาดประชารัฐภายใต้มาตรฐาน “Dansai Green Net” นอกจากเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคแล้วยังสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านได้ต่อเนื่องตลอดทั้งปี ที่สำคัญช่วยลดพื้นที่บุกรุกผืนป่าซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญ

หมู่บ้านก้างปลา เทศบาลตำบลศรีสองรัก อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย มีพื้นที่กว่า 9,965 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นป่าสงวน มีประชากรอาศัยอยู่ราว 223 คน มีทั้งสิ้น 60 ครัวเรือน ด้วยสภาพภูมิประเทศเป็นที่ลาดชันและเชิงเขา พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน มีความสูงเหนือระดับน้ำทะเล 500 -1,100 เมตร มีพื้นที่ราบระหว่างหุบเขาเป็นที่ราบลุ่มแคบๆ สลับกับหุบเขาเพียงร้อยละ 4-5 ของพื้นที่ทั้งหมดถูกใช้เป็นที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำการเกษตร เมื่อชุมชนขยายตัวจึงต้องขยายพื้นที่รุกเข้าไปในผืนป่า ที่ดินป่าไม้จึงถูกเปลี่ยนไปเป็นพื้นที่เกษตรอย่างถาวรและต่อเนื่อง แต่การนำไปใช้ประโยชน์ด้านการเพาะปลูกจะประสบปัญหาการชะล้างการพังทลายของหน้าดิน หากไม่มีระบบการอนุรักษ์ดินและน้ำที่ดีพอ โดยเฉพาะหน้าดินที่มีดินอยู่น้อย ยิ่งมีปัญหามาก นอกจากก่อให้เกิด “เขาหัวโล้น”แล้ว การทำเกษตรโดยการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่มีการใช้สารเคมีในปริมาณมากๆ ยังส่งผลกระทบต่อคนในพื้นที่ราบลุ่ม งานวิจัยนี้จึงให้ความสำคัญกับการใช้ที่ดิน แหล่งน้ำและผืนป่า เพราะถือเป็นพื้นฐานสำคัญต่อวิถีการทำการเกษตรของชาวบ้านก้างปลา

ผศ.ดร.เอกรินทร์ พึ่งประชา อาจารย์ประจำภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ในฐานะหัวหน้าโครงการฯ เปิดเผยถึงสาเหตุที่เลือกทำงานวิจัยชิ้นนี้ว่า หมู่บ้านก้างปลา เป็นหมู่บ้านเล็กๆ บนพื้นที่สูง และเป็นหมู่บ้านต้นน้ำที่สำคัญส่งผลกระทบกับคนในพื้นที่ราบลุ่ม และมีความสำคัญต่อลุ่มน้ำหมัน จึงต้องการหาแนวทางในการจัดการเพื่อฟื้นฟูฐานทรัพยากรอาหารในชุมชน ประกอบด้วย ดิน น้ำ ป่า ภายใต้เงื่อนไข เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา

“ การไปพัฒนาอะไรในชุมชนนั้นเราจะต้องรับฟังเสียงของชาวบ้าน ต้องเข้าใจในวิถีชีวิตของคนในพื้นที่นั้นๆ ที่สำคัญคือความพร้อมในการเปลี่ยนแปลง เพราะถ้าท้องถิ่นยังไม่พร้อมแล้วเราไปผลักดัน ปัญหาในการขับเคลื่อนก็จะตามมา เราโชคดีมีผู้นำของหมู่บ้านที่พร้อมจะขับเคลื่อนและพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงชุมชน ต้องการปรับเปลี่ยนหมู่บ้านของตนเองให้ลดปริมาณการทำพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยว ลดปริมาณเขาหัวโล้น และต้องการฟื้นฟูผืนป่า จึงนำมาสู่การจัดทำโครงการ Smart Farmer เกษตรทางเลือกและความมั่นคงทางอาหาร หมู่บ้านก้างปลา อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลยขึ้นเมื่อปี 2559”

ผศ.ดร.เอกรินทร์ ยอมรับว่า “จากการทำงานวิจัยในช่วง 1 ที่ผ่านมาไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องเจอกับปัญหาให้แก้ไขมาตลอด เพราะการทำงานวิจัยเชิงระบบ จะต้องพัฒนาเรื่องของป่าต้นน้ำและการฟื้นฟูดินที่เสื่อมสภาพ จำเป็นต้องแก้ไขที่ตัวคน จึงต้องอาศัยคนเป็นศูนย์กลางในการแก้ปัญหา ต้องทำให้เข้าใจวิถีชีวิตและหาแนวทางแก้ปัญหาไปพร้อมๆ กัน เพราะเราไม่สามารถไปบอกให้ชาวบ้านอย่าทำลายป่า อย่าปลูกข้าวโพด ทำให้ต้องมาคิดใหม่” จากโจทย์ใหญ่ที่ว่าถ้าไม่ให้เขาปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่ต้องใช้พื้นที่ปลูกเยอะๆ จะทำอย่างไร และชาวบ้านจะต้องสามารถทำได้ด้วยตนเอง เพราะพบว่าส่วนใหญ่จะปลูกข้าวโพดเฉลี่ย 40-50 ไร่/หนึ่งครัวเรือน และถ้าทั้งหมู่บ้านปลูกข้าวโพดกันหมดก็จะกลายเป็นเขาหัวโล้นเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน จึงเกิดแนวคิดในการทำ “เกษตรทางเลือก”เข้ามาให้กับชุมชน เริ่มจากทดลองใช้พื้นที่ 1 ไร่ของแกนนำหมู่บ้านมาปลูกพริกปลอดภัย ซึ่งการเลือกปลูกพริกถือว่าค่อนข้างเสี่ยง แต่มองว่าหากทำสำเร็จจะสามารถสร้างรายได้ถึง 3 เท่าตัวเมื่อเทียบกับการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยผลผลิตพริกสามารถเก็บขายได้ทุก 3-4 เดือน ขณะที่การข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีรายได้เพียงปีละ 1 ครั้ง และในระหว่างสัปดาห์มีการปลูกผักสวนครัวปลอดภัยขาย พอชาวบ้านเริ่มเห็นรายได้เกิดความเชื่อมั่นจึงหันมาทำเกษตรทางเลือกเพิ่มมากขึ้น

โดยผลวิจัยจากโมเดลนี้ ได้ส่งผลกระทบที่เห็นผลเป็นรูปธรรมชัดเจนได้ภายในระยะเวลาเพียง 1 ปี ปัจจุบันเกษตรกรทั้งหมู่บ้านก้างปลาร้อยละ 80 ลด เลิก การปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวหรือเลิกปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หันมาทำ Smart Farmer ผลิตพืชผักปลอดภัย มีตลาดรองรับ สร้างรายได้ต่อเนื่องตลอดทั้งปี เช่น พริก หรือพืชที่เพิ่มมูลค่าในพื้นที่จำกัด ปัจจุบันตลาดสีเขียวที่สินค้าของทางกลุ่มเข้าไปขายมีที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย ขายทุกวันจันทร์ , ลานเอนกประสงค์หน้าที่ว่าการอำเภอด่านซ้าย ขายทุกวันอังคาร ศุกร์และวันประชุมประจำเดือนของกำนันผู้ใหญ่ และตลาดประชารัฐ ภายใน 1 สัปดาห์ชาวบ้านมีรายได้จากการขายผักปลอดภัยเพิ่มขึ้นประมาณ 1,500 บาท/ครัวเรือน ที่สำคัญลดต้นทุนในการผลิตและได้สุขภาพที่ดีขึ้น และจากความสำเร็จของหมู่บ้านก้างปลา กลายเป็นโมเดลหรือหมู่บ้านต้นแบบ Smart Farmer ให้กับหมู่บ้านอื่นๆ สนใจหันมาทำตาม เกิดการขับเคลื่อนไปยังพื้นที่อื่นๆ เกิดการขยายผลงานวิจัยเพิ่มขึ้น

ผศ.ดร.เอกรินทร์ กล่าวว่า “การจะเป็น Smart Farmer นั้น ต้องใช้เทคโนโลยีและองค์ความรู้เข้าไปช่วย ไม่ใช่อยู่ดีๆจะเป็นกันได้ ดังนั้นคุณสมบัติของเกษตรกรที่จะเป็น Smart Farmerได้ หนึ่งจะต้องเป็นคนพร้อมเปิดใจรับความรู้ใหม่ๆ หากไม่เห็นด้วยสามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนกันได้ พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนรูปแบบการปลูกพืชใหม่ๆ พร้อมที่จะก้าวทันเทคโนโลยี และพร้อมที่จะขับเคลื่อน สองเรื่องขององค์ความรู้การจัดการดินที่มีประสิทธิภาพ การจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพสูงสุด และการจัดการโรคพืช ที่เราจะต้องนำความรู้ใส่เข้ามาให้กับเกษตรกรด้วย เช่น การตรวจคุณภาพดิน  ปุ๋ยสั่งตัด การใช้สารเคมี การใช้พลาสติกคลุมหญ้า หรือการใช้น้ำแบบรู้คุณค่ามากขึ้นปรับมาใช้สปริงเกอร์หรือระบบน้ำหยดแทนจากเดิมที่ไม่เคยมี นอกจากนี้ยังมีการใช้ความรู้หลายอย่างที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์เข้าไปให้ชาวบ้าน และเมื่อผสมผสานกับฐานความรู้ภูมิปัญญาเดิมก็จะนำไปสู่องค์ความรู้ของชุมชนในรูปแบบที่เหมาะสมกับนิเวศของชุมชนเอง และสิ่งสำคัญที่สุดคือ เรื่องของวิธีคิดและกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงจึงจะมีโอกาสเป็น Smart Farmer ได้”

เมื่อการบุกรุกป่าลดลง ระยะยาวแหล่งต้นน้ำและผืนป่าก็จะได้รับการฟื้นฟู ปัจจุบันหากใครได้มีโอกาสไปเยือนหมู่บ้านก้างปลาจะเริ่มเห็นการปลูกไม้ผลไม้ยืนต้นเข้ามาแทนที่การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทุเรียน มะขาม ส้ม ลิ้นจี่ ลำไย อโวคาโดและอื่นๆ  ต่อไปในอีก 5 ปีข้างหน้าที่นี่จะเกิดความหลากหลายกลายเป็นวนเกษตรขึ้นแทนที่ภาพเขาหัวโล้น ซึ่งอนาคตอีกไม่นานจะทำให้เราเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงของผืนป่ากลับคืนมาในที่สุด

Political News